ผู้หญิงในชีวิตของผม..แม่

กลับหน้าหลัก  

HOME

หน้า   1   2    3    4    5   6


          ในบางครั้งอวิชชาทำให้ข้อเท็จจริงผิดแปรไปก็มี  เช่น เรื่องจำนวนคนจีนในประเทศไทย  เมื่อเลิกสงครามญี่ปุ่นใหม่ๆ  เจียงไคเช็คยืนยันว่า  ในเมืองไทยมีชาวจีนโพ้นทะเลอยู่ ๓ - ๔ ล้านคน  และเรียกร้องให้ชาวจีนเหล่านั้นจงรักภักดีต่อประเทศจีน  ถ้าตรวจดูสถิติของราชการไทย  จะพบว่าคนสัญชาติจีนจริงๆ มีเพียงไม่กี่แสนคน  ฉะนั้นที่ใครนับได้ถึงหลายล้านนั้น  ก็ต้องรวมนับลูกจีนสัญชาติไทยอย่างผมเข้าไปด้วยเป็นอันมาก  เป็นการตู่และจดสืบอย่างไม่ชอบธรรม  ต่อมารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนก็ตู่สืบไปว่า  คนจีนโพ้นทะเลมีอยู่ ๓ -๔ ล้านคนในประเทศไทย  เมื่อไม่กี่เดือนมานี้  ผู้ใหญ่ในราชการไทยเราเองก็ยังหลงแถลงออกมาได้ว่าคนจีนในไทยมีหลายล้านคน  และว่าพวกเหล่านี้จะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติไทย  มีคนจำนวนมากที่รู้สึกน้อยใจในถ้อยคำชนิดนี้
          พฤติกรรมของชาวจีนและลูกจีนในไทย  หลังจากที่คอมมิวนิสต์ยึดอำนาจในประเทศจีนได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒  แล้ว  แตกต่างจากเดิมไปอย่างผิดหูผิดตา  ผมได้เล่าแล้วว่าเมื่อก่อนชาวจีนอย่างเตี่ยผม  ทำมาหากินได้เท่าใดก็ส่งเงินส่วนใหญ่ออกไปบำรุงครอบครัวที่เมืองจีน  ลูกหลานก็ส่งไปเรียนที่นั่น  และเมื่อแก่แล้วก็กลับไปตายเมืองจีน  ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๒  เป็นต้นมา  ชาวจีนในไทยยังคงส่งเงินไปบำรุงญาติที่เมืองจีนอยู่บ้าง  แต่ไม่มีใครกล้าส่งไปเป็นจำนวนมาก  เพราะเกรงจะถูกริบ  และเกรงว่าญาติจะถูกเบียดเบียนฐานเป็นพวกนายทุน  ฉะนั้นเงินที่หาได้ก็เก็บออมไว้ที่ประเทศไทยเป็นส่วนมาก  ที่มีมากก็ปลูกตึกอยู่แทนที่จะเช่าเขาอยู่อย่างแต่ก่อน  แต่เดิมชาวจีนคนไหนที่มีรถยนต์ใช้ต้องเป็นเจ้าสัว  เดี๋ยวนี้เขาซื้อรถยนต์กันเกลื่อน  ลูกหลานส่วนใหญ่ก็ให้เข้าโรงเรียนไทยแล้วเข้ามหาวิทยาลัยไทย  คบค้าสมาคมกับเพื่อนไทยมากขึ้น  มีจำนวนมากที่ได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยไทยแล้วมีความภาคภูมิใจ  รู้สึกจงรักภักดีต่อประเทศไทยมากขึ้นทุกที  น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบายกลมกลืนให้เป็นไทยได้สนิทยิ่งขึ้น  โดยไม่ให้น้อยเนื้อต่ำใจว่าเป็นราษฎรประเภทสอง  ด้วยความเห็นดั่งนี้  ผมจึงได้เสนอไว้ตอนต้นว่า ปัญหาเรื่องลูกจีนในไทยแก้ไขได้ง่ายด้วยการช่วยแก้ปัญหาของลูกจีน
          ผมได้พรรณนาเรื่องจีนกับลูกจีนอย่างยืดยาวในบทความนี้  แต่ก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับเรื่องของแม่ผม  แม่เป็นผู้หญิงที่นิยมวัฒนธรรมจีน ขนบประเพณีจีน แต่แม่เป็นคนไทย  ถือสัญชาติไทย  จงรักภักดีต่อไทย  เลี้ยงลูกให้อยู่ในกรอบวัฒนธรรมและศาสนธรรมของไทยตลอดมา

๕. ปัญหาเศรษฐกิจของแม่

          เตี่ยตายตั้งแต่ผมอายุ ๙ ขวบ  ไม่มีมรดก  ไม่มีเงินประกันชีวิต  ไม่มีบำเน็จบำนาญเหลือให้ตกทอดมาเลย  พี่ชายสองคนกลับมาหากินที่เมืองไทยแล้วแต่เงินเดือนน้อยเต็มที  ก่ำ ผม และน้องอีก ๓ คน ยังเล็กอยู่  กำลังเรียน กำลังกินจุ  กำลังเติบโตขึ้น  ลุงให้ความอุปการะส่งเสียเงินให้แม่เป็นรายเดือนแต่ก็ไม่พอใช้  ในครอบครัวเรามียายและน้าสองคน  มีแม่นมน้องคนเล็ก (ซึ่งหย่านมแล้วแต่แม่นมยังอยู่ด้วยกันกับเราเหมือนญาติ)  กับลูกสาวแม่นม  ลูกของน้าผมจากสระบุรีมาอยู่ด้วยเพื่อเรียนหนังสือ ๒ คน  แล้วยังมีญาติมาพักอาศัยด้วยไม่ขาดสาย  ฉะนั้นค่าใช้จ่ายในบ้านย่อมมากเป็นธรรมดา  ผมสองคนติดค่าเล่าเรียนที่อัสสัมชัญค้างชำระเสมอมา  หนักๆเข้าแม่ก็ต้องใช้ก่ำกับผมให้ไปขอเงินก้อนจากลุงเป็นพิเศษมาชำระค่าเล่าเรียนเสียที  ตอนราว พ.ศ. ๒๔๖๙ - ๗๐ กิจการค้าของลุงผมไม่ดีเลย ลูกค้าถูกมรสุมโป๊ะแตก  และเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยทั่วไปเลวลง  ราคาปลาก็ตกต่ำ  ลุงผมก็อึดอัดเรื่องเงินอยู่มาก  วันหนึ่งผมขึ้นไปบนบ้านลุงแล้วขอเงินท่านมาชำระค่าเล่าเรียน  ท่านนิ่งอึ้งอยู่สักสิบนาทีเห็นจะได้  พอท่านรู้สึกตัวท่าก็พูดว่า " ป๋วยเอ๋ย อาแป๊ะคิดถึงเตี่ยแก"
          เมื่อเตี่ยตายไปไม่นาน ลุงได้เสนอต่อว่าให้แม่พาลูกทุกคนเว้นแต่คนโตสองคนไปอยู่เมืองจีนเสีย ลุงรับรองเด็ดขาดว่าจะไม่ให้อนาทรร้อนใจ  จะให้พวกผมได้เรียนหนังสือทุกคน  และจะส่งเงินให้ใช้เป็นประจำ  แม่ผมปฏิเสธ ลุงจึงแนะนำว่า เมื่อเงินไม่พอใช้ก็ควรจะย้ายลูกจากโรงเรียนฝรั่งไปเข้าโรงเรียนหลวง  จะได้ทุ่นค่าใช้จ่ายลง  แม่ก็ไม่ยอม  ความมานะดื้อดึงของแม่ทำให้ญาติด้านจีนอ้างสุภาษิตพูดถึงแม่ว่า "ชิ้วเส่ยอาตั้วกาชึง" แปลว่า "มือเล็กอุดก้นใหญ่"
          รายได้ของแม่ในขณะนั้น  ส่วนใหญ่เป็นเงินอุปการะจากลุง นอกนั้นแม่พยายาม "ติดไพ่" ที่บ้าน  คือตั้งวงเล่นไพ่ในบ้านเพื่อเก็บ "ค่าต๋ง" แต่เจ้าใจว่าค่าต๋งนั้นไม่เท่าใดนัก  เพราะแม่ลงมือเล่นด้วยและคงเล่นได้บ้างเสียบ้าง  นัการพนันส่วนมากเวลาเล่นได้มักจะจ่ายเงินฟุ่มเฟือย  และมักจะจ่ายมากจนติดนิสัย  แม้วเลาเล่นเสียก็ยังจ่ายฟุ่มเฟือย แม่เป็นคนใจกว้าง และได้กล่าวแล้วว่าบ้านเรามีคนอยู่ประจำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่น้อยกว่า ๑๔ - ๑๕ คนเสมอ  เรื่องอาหารแม่ถือคติว่าต้องไม่ให้ใครอดอยาก  ที่บ้านมีอาหารดีๆ และเหลือเฟืออยู่เสมอ  เมื่อก่ำกับผมโตขึ้น แม่ก็สนับสนุนให้ชวนเพื่อนนักเรียนไปเที่ยวที่บ้าน  เมื่อเพื่อนๆไปแม่ก็ดีใจ  จ่ายตลาดเป็นการมโหฬารเพื่อเลี้ยงเพื่อนๆผม  บางครั้งชวนกันไปกว่าสิบคน ยิ่งตอนตรุษจีนหรือสารทแม่เป็นสั่งให้ชวนเพื่อนไปมากๆ ให้ไปกินเลี้ยงที่บ้าน (จะได้ไม่ไปเที่ยวเสเพลข้างนอก)  จ่ายกับข้าวไม่อั้น  เพื่อนเก่าของผมที่อ่านเรื่องนี้คงจำได้ดี

คัดลอกจากหนังสือ "ประสบการณ์ชีวิต และข้อคิดสำหรับคนหนุ่มสาว" โดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง)