ผู้หญิงในชีวิตของผม..แม่

กลับหน้าหลัก  

HOME

หน้า   1   2    3    4    5   6


๔. ปัญหาของลูกจีน

          ปัญหาเรื่องลูกจีนในประเทศไทยนี้  พวกเราโดยมากมักจะมองไปในทำนองว่าลูกจีนเป็นตัวปัญหา  หาได้คำนึงไม่ว่าลูกจีนนั้นเองมีปัญหาของตัวอยู่  เพราะถูกอัดก๊อปปี้ทั้งด้านไทยและด้านจีน  ผมคิดว่าปัญหาของลูกจีนนั้น  ถ้าเราแก้ไขให้แล้ว จะช่วยแก้ไขป้องกันปัญหาเรื่องลูกจีนสำเร็จไปด้วยในตัว  สำหรับผมเอง  แม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ เสร็จ ด้วยคาถาที่ว่า เกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทย ต้องเป็นคนไทย ต้องจงรักภักดีต่อไทย  แม้จะถูกเย้ยหยันต่อว่าว่าทิ้งขนบธรรมเนียมภาษาจีนของปู่ย่าและพ่อไป  ก็ทนไหว  เพราะแม่ชี้ทางให้  แม่เองก็ชื่อจีน มีเชื้อจีน และพูดภาษาจีนได้คล่อง  รู้ขนบธรรมเนียมจีนดี  เช่น เซ่นไหว้ปู่ย่าตายายพระภูมิเจ้าที่แบบจีน  นั่นเป็นเรื่องของครอบครัวของสังคม  ไม่ใช่เรื่องสัญชาติและความจงรักภักดี  ซึ่งต้องเป็นของไทยเด็ดขาด  เมื่อครั้งสงครามญี่ปุ่น  ผมและเพื่อนๆ ลูกจีนอย่างผมอีกหลายคน ไม่เคยลังเลใจเลยที่จะสละชีพเพื่อชาติๆไทย  เพราะนอกจากจะเกิดเมืองไทย  กินข้าวไทยแล้ว ยังได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลไทย คือเงินของชาวนา ชาวเมืองไทย ไปเมืองนอก แล้วผูกพันใจว่าจะรับราชการไทยได้วย
             ปัญหาลูกจีนในประเทศไทย  ผิดกับปัญหาลูกจีนในมาเลเซีย  สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย  เพราะแต่ไหนแต่ไรมา  ชาวจีนที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในเมืองไทยนั้น  ได้รับนับถือและกลมกลืนให้เป็นกันเอง และให้เป็นไทยในวงราชการ ผู้นำชาวจีนก็ได้รับการยกย่องเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี  เจ้ากรมท่าซ้าย มีหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญในราชการพระคลังมหาสมบัติและการต่างประเทศ  ชาวจีนโดยทั่วไปในเมืองไทยก็ได้รับการสนับสนุนให้แต่งงานกับไทยหรือกับลูกจีนเกิดในเมืองไทย  ได้รับพระราชทานหรือส่งเสริมให้มีนามสกุลเป็นไทย  ถ้าใครยังเป็นห่วงขนบธรรมเนียมจีนอยู่บ้างซึ่งท่านก็ไม่ห้าม และจะมีนามสกุลเป็นพันธุ์ทางก็ได้  โดยเก็บคำแซ่มาผสมกับภาษาไทยหรือสันสฤตให้ฟังเป็นชื่อไทย เช่น อึ๊งภากรณ์  ก็มาจากแซ่อึ๊งคือเหลือง  รวมทั้งนามสกุล แปลได้ความว่า เหลืองเหมือนดวงอาทิตย์  นโยบายกลมกลืนจีนและลูกจีนให้เป็นไทยจึงเป็นนโยบายที่ดี สามารถป้องกันเหตุร้ายแรงอย่างในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เมื่อไม่นานมานี้ได้อย่างแนบเนียน
         ในระดับราชการไทยกับจีนเล่า แต่ดั้งเดิมมาก็มีความสัมพันธ์กันแบบตะวันออกอย่างเสมอภาค กล่าวคือ  มีสัมพันธไมตรีโดยส่งทูตนำของขวัญบรรณาการให้ซึ่งกันและกันฐานมิตร  โดยไม่ต้องตั้งทูตประจำจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔  แห่งสมัยรัตนโกสินทร์  สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงพิจารณาว่าเจ้ากรุงจีนเริ่มทึกทักว่า ไทยส่งเครื่องบรรณาการไปถวายเป็นการอ่อนน้อมสวามิภักดิ์ฐานประเทศราช จึงโปรดให้งดเสียแล้วเลิกติดต่อกันนาน  จนกระทั่งทางประเทศจีนเกิดเก๊กเหม็ง คือ การพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง  กษัตริย์จีนจึงเริ่มส่งทูตมาพยายามจะให้มีสัมพันธไมตรีเป็นการประจำ  แต่ทางประเทศไทยก็ปฏิเสธ  โดยถือนโยบายเป็นมิตรอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่ต้องมีทูตประจำ  เป็นเช่นนี้มาจนหลังสงครามญี่ปุ่น  จึงได้เริ่มมีสถานทูตประจำขึ้น  นโยบายการต่างประเทศที่ได้ใช้ปฏิบัติในอดีตนั้น  เท่าที่เกี่ยวกับประเทศจีนก็ถือหลักการเช่นนี้อยู่เสมอ  คือเป็นมิตรกันโดยไม่ต้องผูกพันเป็นทางการ  ส่วนคนชาติจีนในประเทศไทยนั้นก็ได้โอกาสประกอบสัมมาอาชีวะได้  โดยพยายามให้กลมกลืนเป็นไทยเสียโดยเร็ว
          ผมเชื่อว่านโยบายดังกล่าวทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยมาก  และในขณะเดียวกัน ก็สามารถชักจูงให้ลูกหลานจีนรู้สึกอบอุ่นว่าได้อยู่ในบ้านเมืองของตนเอง  จริงอยู่ระหว่างไทยกับจีนและลูกจีนย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง  เช่น ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถือลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรง  หรือในสมัยที่สงครามญี่ปุ่นสงบลงใหม่ๆ ชาวจีนในกรุงเทพฯ กำเริบ แต่ข้อขัดแย้งเช่นนี้มีอยู่ไม่นานและแก้ไขได้ง่าย เพราะภูมิหลังของเรื่องมั่นคงดีอยู่แล้ว
          เรามักได้ยินคนบ่นอยู่บ่อยๆว่า  " การค้าของไทยอยู่ในกำมือของคนต่างด้าว "  ตามปกติมักจะหมายถึงต่างด้าวชาวจีน ( แต่เดี๋ยวนี้หมายถึงญี่ปุ่นด้วย)  ข้อนี้ไม่เป็นจริงเสียทีเดียว  เพราะถ้าหมายถึงลูกจีนสัญชาติไทยด้วยก็ไม่ใช่คนต่างด้าว  นอกเสียจากว่าเมื่อถูกตั้งข้อรังเกียจให้เป็นต่างด้าว ก็ย่อมต้องมีปฏิกิริยาเป็นธรรมดา  ถ้าปฏิบัติถือเสียว่า ลูกจีนเกิดในเมืองไทยเป็นคนไทยจริงๆแล้ว  ส่วนใหญ่ก็จะมีความสวามิภักดิ์ต่อไทย กลืนให้เป็นไทยได้ง่าย  แต่บางครั้งผู้ใหญ่ในวงราชการเราหาได้กระทำเช่นนั้นไม่  กลับไปขู่เข็ญบังคับให้จีนและลูกจีนนั้นมาสวามิภักดิ์ต่อตนเป็นการส่วนตัว  โดยมอบหุ้นฟรีในกิจการค้าให้ผู้ใหญ่นั้น หรือให้แต่งตั้งตนหรือภรรยาหรือญาติเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการบริษัท อ้างว่าที่ทำเช่นนั้น  ก็เพื่อจะควบคุมถึงการค้าต่างๆ นั้นให้อยู่ในกำมือคนไทย  แท้จริงที่แตกต่างไปจากเดิมก็มีเพียงแต่ว่า  เกิดมีคนไทยจำนวนน้อยเข้าไปแสวงหาประ
โยชน์ส่วนตัวโดย "คุ้มครอง" กิจการที่ว่านั้น  เจ้าของกิจการค้านั้นไม่ว่าจะเป็นจีนหรือลูกจีนก็ตาม เมื่อได้รับความคุ้มครองแล้ว ก็ย่อมต้องทำประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้คุ้มครอง  แต่ไม่ยอมให้เข้าเนื้อของตน  คือยังคงมีกำไรมากเท่าเดิมหรืออาจมากกว่าเดิม  เพราะมีท่านผู้ใหญ่คุ้มครองให้อภิสิทธิ์ด้วย  ผู้ที่เสียประโยชน์จริงๆ ก็คือลูกค้าของกิจการเหล่านั้น  หมายความว่าราษฎรไทยโดยทั่วไปนั่นเองเดือดร้อน

 

คัดลอกจากหนังสือ "ประสบการณ์ชีวิต และข้อคิดสำหรับคนหนุ่มสาว" โดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง)