หน้า  1    2   3    4    5

-4-

อ่านต่อ

 

 

          หนอนธนู

 

          หนอนธนู ( Arrow worm )  เป็นแพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มเล็กๆ ที่พบเฉพาะในทะเลเช่นเดียวกับหวีวุ้น  ลำตัวหนอนธนูเรียวยาวคล้ายธนู ลำตัวใส การเคลื่อนที่โดยเฉพาะเวลาจับเหยื่อคล้ายธนูที่พุ่งออกจากคันธนู หนอนธนูเป็นนักล่าที่ดุร้าย สามารถจับเหยื่อโดยใช้ฟันและหนามยาวโค้งที่อยู่ข้างหัว อาหารของหนอนธนูมีตั้งแต่สัตว์อื่นที่มีขนาดเล็กกว่า จนถึงขนาดที่ใหญ่กว่าตัวเอง  ระบบย่อยอาหารดีมาก คืออาหารจะถูกย่อยอย่างรวดเร็วมาก เช่น โคพีพอดที่ถูกกินถูกอย่อยไปแล้วบางส่วนในขณะที่ลำตัวที่เหลือยังอยู่ที่ปากของหนอนธนู
        Evadne  และ Lucifer   เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ถาวรที่จัดอยู่ในกลุ่ม  Crustacea  
          
    Evadne  เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่มีขนาดเล็ก มีเหลือกหุ้มลำตัวเกือบหมดยกเว้นแต่ส่วนหัว จัดว่าเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื่องจาก  Evadne  สามารถให้ลูกอ่อนได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยการสืบพันธุ์แบบมีเพศ  ช่วยให้การแพร่พันธุ์รวดเร็วและเพิ่ม

จำนวนมากในช่วงเวลาอันสั้น


 
 
 

Evadne  sp.

Lucifer  sp.

Amphipoda (Hyperiidea)


             Lucifer  เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ถาวรที่จัดอยู่ในกลุ่มกุ้ง  เพราะโดยทั่วไปแล้วกุ้งเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำหรือเป็นพวกเบนโธน ซึ่งมีระยะตัวอ่อนเท่านั้นที่ดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน  แต่ Lucifer   เป็นสกุลที่ดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอนตลอดชีวิตของมัน
               แอมฟิพอด (
Amphipoda)  เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ในกลุ่มครัสตาเชียนที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง  แอมฟิพอดที่เป็นแพลงก์ตอนตอนจัดอยู่ใน  Suborder Hyperiidea  ลักษณะเด่นของพวกนี้คือ ตาประกอบมีขนาดใหญ่ ลำตัวแบนข้าง ค่อนข้างป้อม รยางค์ค่อนข้างเล็ก พบในตัวอย่างที่ลากด้วยถุงแพลงก์ตอน แต่มีแอมฟิพอดมากชนิดที่อาศัยเกาะอยู่กับสาหร่ายทะเล พวกนี้มีลำตัวยาวเรียว ตาค่อนข้างเล็ก รยางค์ปรับรูปร่างให้เหมาะกับการเกาะเกี่ยวอยู่กับใบหรือกิ่งก้านของสาหร่ายทะเล  ส่วนแอมฟิพอดที่พบในทะเลอีกกลุ่มหนึ่งเป็นพวกที่อาศัยอยู่ตามพื้นทรายใต้ทะเลหรือตามชายหาด พวกดังกล่าวนี้จัดอยู่ใน  Suborder Gammariidea  มีลำตัวอ้วนกว่าพวกที่เกาะเกี่ยวบนสาหร่ายทะเล  ตาประกอบขนาดเล็ก รยางค์บนด้านท้องและที่อกแข็งแรงเพื่อให้เหมาะกับการดำรงชีวิตบนพื้นท้องน้ำและหาดทราย

โปรโตซัว
       
         
Rhabdonella sp. Eutintinnus sp. Chaetoceros coarctatus Chaetoceros curvisetus Palmeria hardmaniana
     


           Rhaddonella   เป็นสกุลหนึ่งของ โปรโตซัวในกลุ่ม tintinnids  เซลล์มีลักษณะเช่นเดียวกับอะมีบา  คือ เคลื่อนที่ด้วยเท้าเทียมแต่มีเปลือก (test) หุ้มเซลล์ เซลล์จะเกาะอยู่ที่ด้านในเปลือกและยื่นส่วนปากมาจับอาหาร  tintinnids  เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่เป็นผู้บริโภคลำดับแรก (primary consumer)  ในทะเลซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในห่วงโซ่อาหาร  เพราะกินอาหารพวกสาหร่ายขนาดเล็ก  ดินตะกอน สิ่งเน่าเปื่อย  และโปรโตซัวกลุ่มนี้จะถูกกินโดยสัตว์ขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก tintinnid  บางชนิดมีเปลือกบาง หัวท้ายปิด สามารถมองเห็นเซลล์ที่อยู่ภายในเปลือกได้ชัดเจน เช่น  Eutintinnus
        
 Vorticlla  oceannica  เป็นโปรโตซัวชนิดที่ดำรงชีวิตแบบอิงอาศัยอยู่กับประชากรแพลงก์ตอนพืชพวกไดอะตอม โดยฉพาะ Chaetoceros coarctatus  จนนักอนุกรมวิธานให้ข้อสังเกตว่า หากพบ V.oceanica   เกาะอยู่บน  Chaetoceros coarctatus  สายใด ให้ใส่ชื่อชนิดได้เลยว่าเป็นชนิด  coarctatus  เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวอย่างที่พบบริเวณเกาะช้างและเกาะคราม โปรโตซัวชนิดนี้อาศัยเกาะอยู่บน  Chaetoceros curvisetus  ด้วย นอกจากการดำรงชีวิตแบบอิงอาศัยนอกเซลล์แล้ว ยังมีโปรโตซัวอีกชนิดหนึ่งคือ  Amphorella  boreallis  ที่อาศัยอยู่ในเซลล์ไดอะตอมชนิด  Palmeria hardmaniana  โดยเซลล์อยู่เรียงกันอย่างเป็นระเบียบเป็นรูปโค้งคล้ายรูปวงเดือน 2 ด้านของเซลล์ไดอะตอม เท่าที่ผ่านมายังไม่พบว่าโปรโตซัวชนิดนี้อาศัยอยู่ในแพลงก์ตอนพืชชนิดอื่นอีก  สันนิษฐานว่า การที่โปรโตซัวเกาะอยู่ภายในเซลล์ไดอะตอม อาจเป็นเพราะโปรโตซัวต้องการที่อยู่เพื่อป้องกันศัตรู

หน้า  1    2   3    4    5  

อ่านต่อ

 

ข้อมูลจากหนังสือ: จากยอดเขาถึงใต้ทะเล ฯ เรียบเรียงโดย ศาสตราจารย์ ลัดดา วงศ์รัตน์ แห่งภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์