ย้อนกลับ
 


 

               ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) จึงได้กล่าวว่าเวลาละหมาดคือเวลาที่ท่านได้พักผ่อน
               มุสลิมมีโอกาสสร้างความสมดุลให้จิตใจได้ถึงวันละ 5 เวลา สำหรับผู้ที่สมัครใจจะทำมากกว่านี้ เพื่อหวังความโปรดปรานจากพระองค์ก็มีละหมาดซุนนะห์อีกหลายประเภท เช่น ละหมาดซุนนะห์ประจำเวลาละหมาดฟัรดู ละหมาดดุฮา ละหมาดกลางคืน ละหมาดวิตร ละหมาดซุนนะห์หลังเอาน้ำละหมาด และละหมาดตัสเบี๊ยะห์ เป็นต้น ผู้ที่ปฏิบัติละหมาดโดยมีจิตใจจดจ่อมุ่งตรงต่อพระผู้อภิบาลอย่างแน่วแน่ จิตใจไม่วอกแวกแล้วเขาจะลืมทุกอย่าง  ยกเว้นนึกถึงแต่พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น จะทำให้รู้สึกสงบเสงี่ยม นอบน้อมยอมตนต่อพระองค์ จิตใจสงบ รู้สึกผ่อนคลายมีความสุข มีความเมตตาและเกิดความศรัทธา

               นักจิตเวชเชื่อว่าหากบุคคลใดสามารถสร้างความสมดุลได้ครบทั้ง 3 ประการ คือความสมดุลทางอาหาร ความสมดุลทางสรีระของร่างกาย และความสมดุลด้านจิตใจ จะทำให้บุคคลนั้นมีชีวิตยืนยาวและมีแต่ความผาสุก และจากการวิจัยพบว่า ในบรรดาความสมดุลทั้งสามอย่างนี้ การสร้างความสมดุลให้จิตใจเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่สุด เพราะการสร้างความสมดุลด้านนี้จะทำให้จิตใจของเราสบาย ปลอดโปร่ง ผ่อนคลายจากความตึงเครียดทั้งปวง เมื่อจิตใจสบาย ปลอดโปร่งแล้ว เราจะสามารถสร้างความสมดุลด้านอื่นๆอีกได้ไม่ยาก

               การที่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนด การละหมาดให้มุสลิมปฏิบัติเป็นประจำวันละ 5 เวลานั้น นับเป็นความเมตตาที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์ต่อมุสลิม เพราะการละหมาดเป็นการแสดงความเคารพภักดีของมนุษย์ต่อพระเจ้าผู้ทรงสร้างมนุษย์และทุกสิ่ง เป็นการแสดงความกตัญญูและเป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องปฏิบัติต่อพระเจ้า การละหมาดจะช่วยยับยั้งและปกป้องผู้กระทำให้พ้นจากความชั่ว ทำให้ผู้กระทำได้รับการอภัยโทษจากการขออภัยและลบล้างความผิดบาปเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาได้กระทำ

                ในขณะเดียวกันมุสลิมยังได้รับประโยชน์คือร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย ได้พักผ่อนจากการปฏิบัติละหมาดดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ที่ละหมาดโดยมีจิตใจที่จดจ่ออยู่กับอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ตลอดเวลาที่ละหมาด  พร้อมๆ กับในการดำเนินชีวิตนั้นเขารับประทานอาหารที่ฮาล้าล ตอยยิบ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ บริจาคทาน มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมทั้งปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ใช้ในเรื่องต่างๆ อินซาอัลลอฮ์ พระองค์จะทรงให้เขามีชีวิตที่ยืนยาว มีความผาสุก และมีสุขภาพดี

ย้อนกลับ