ขั้นตอนการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์
( ต่อ )

anatomy.jpg (69271 bytes) b13.gif (17381 bytes) floweranatomy.gif (11821 bytes)


           2.  ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับตัวอย่างอย่างละเอียด
                รายละเอียดทางโครงสร้างของสิ่งมีชีวิต มักมีบันทึกไว้ในหนังสือที่เกี่ยวข้อง หากผู้วาดเข้าใจโครงสร้างของสิ่งที่วาดก่อนลงมือวาด จะช่วยให้ภาพสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะผู้วาดจะทราบว่าส่วนใดมีความสำคัญควรแสดงให้ชัดเจน เช่น พวกชงโค มีใบเป็นสองพู ดอกแคมีเกสรตัวผู้ 10 อัน อยู่ติดกัน 9 อัน และแยกออก 1 อัน เป็นต้น ส่วนข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ของตัวอย่างก็มีความสำคัญเช่นกัน ควรทราบอายุแหล่งที่พบ ฤดูกาลที่พบ ฯลฯ เพื่อบันทึกไว้ช่วยในการค้นคว้าอ้างอิง ตรวจสอบความถูกต้องของภาพเพิ่มเติมได้ภายหลัง
          3.  ร่างภาพให้มีขนาด และสัดส่วนถูกต้อง
                ตามปกติการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์นิยมวัดด้วยมาตราเมตริกเสมอ เช่น nm ( nanometer), mm (millimeter), cm (centimeter) และ m (meter) การร่างภาพควรเริ่มด้วยการกำหนดรูปทรงขององค์ประกอบใหญ่ๆ ในภาพก่อน แล้วค่อยๆ วาดส่วนประกอบย่อยที่เล็กลงไปจนถึงส่วนที่เล็กที่สุด  การวัดขนาดของแต่ละส่วนต้องทำอย่างแม่นยำ และใช้หลักการมองแบบทัศนียภาพ (perspective) เพื่อให้ดูมีมิติ ( ดูเรื่องการร่างภาพในบทต่อไป )
          4.   วาดรายละเอียด และบันทึกแสง-เงา
                การวาดและบันทึกรายละเอียดให้มากที่สุดในระหว่างการร่างภาพจะช่วยให้ภาพสมบูรณ์ เช่น บันทึกสี จำนวนเส้นขนในบางบริเวณ ลักษณะปลายหนาม เป็นต้น สำหรับการบันทึกแสง-เงา ก็เช่นกัน จะเป็นแนวนำทางสำหรับการลงแสง-เงาให้สมบูรณ์ในภาพจริง
          5.   ลอกภาพร่างลงบนกระดาษที่ใช้จริง
               แม้จะเป็นการเสียเวลาไปบ้าง แต่การลอกภาพจากภาพร่างลงบนกระดาษที่ใช้จริง จะช่วยเก็บรักษาต้นฉบับภาพร่างไว้ใช้ได้ในครั้งต่อไป และนอกจากนั้นยังรักษาเนื้อกระดาษภาพจริงให้มีรอยดินสอร่าง และยางลบน้อยที่สุด ภาพร่างอาจใช้ได้ในครั้งต่อไปหากภาพจริงผิดพลาด หรือต้องการเปลี่ยนเทคนิคการลงแสง-เงา การลอกภาพอาจใช้กระดาษลอกลาย ลอกบนกระจกฉายแสงจากข้างใต้ หรือบนกระจกหน้าต่างซึ่งรับแสงจากภายนอก
          6.  การลงแสง-เงาทำได้หลายวิธี เช่น ให้หมึกกับปากกาคอแร้ง ปากกาเขียนแบบ ดินสด ดินสอสี ผงถ่าน และสีน้ำ เป็นต้น การเลือกเทคนิคที่เหมาะสม ควรคำนึงว่าเทคนิคใดจะเสนอภาพออกมาได้ดังวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น วัตถุประสงค์ที่มีรายละเอียดมากอาจนำเสนอด้วยลายเส้นปากกา วัตถุที่มีพื้นผิวเป็นคลื่นอาจใช้ดินสด วัตถุดูเป็นมันเงา หรือดูเปียกอาจใช้สีน้ำ เป็นต้น นอกจากนี้อาจนำเสนอเป็นภาพขาว-ดำ  ทั้งมีความคมชัด สามารถผลิตได้ในราคาถูก และที่สำคัญคือสีขาว-ดำ มีความคงทนถาวรกว่าภาพสี จืดจางได้ยากแม้อุณหภูมิสูง หรือแสงแดดจัด
              อย่างไรก็ตาม ภาพสีที่ดีมีเสน่ห์ดึงดูดใจ ชวนมอง และสมจริง ดังนั้นหากผู้วาดแสดงสีสันของภาพได้อย่างถูกต้อง หากระบบการพิมพ์มีประสิทธิภาพ และสามาถผลิตงานได้ในราคาที่เหมาะสม การนำเสนอด้วยภาพสีย่อมให้ผลงานที่น่าประทับใจอย่างแน่นอน ( ดูเพิ่มเติมเรื่องการลงแสง-เงาในบทต่อๆไป)

อ่านต่อหน้าถัดไป