ขั้นตอนการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์
( ต่อ )


           7.  ตรวจสอบขั้นสุดท้าย
                เมื่อลงแสง-เงาในภาพแล้ว ยังมีสิ่งต้องคำนึงถึงอีกหลายประการในขั้นสุดท้าย ได้แก่ คำอธิบายภาพ (label), เส้นและลูกศรต่างๆ (leader). การลงขนาดส่วน (scale), ลายเซ็น, และการใส่กรอบ
                คำอธิบายภาพ ควรใช้ตัวหนังสือ (font) แบบเดียวกับเนื้อหา เลือกใช้ขนาด (point) ที่เหมาะสมกับการย่อ-ขยาย เช่นเดียวกับเส้นลูกศร รวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ บนภาพ ซึ่งควรมีความชัดเจน เรียบง่าย น้อย ไม่รกรุงรัง อาจใส่คำบรรยาย รวมทั้งเส้น ลูกศรและอื่นๆ ลงบนกระดาษลอกลายหรือแผ่นใสแล้วปิดทับลงบนภาพอีกที เพื่อไม่ให้ภาพเสียหายหากมีการแก้ไขคำอธิบาย ในการนี้ควรใช้สัญลักษณ์ (crop&register mark) บนภาพให้ตรงกับบนกระดาษลอกลายหรือแผ่นใสดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีการเลื่อนไปมาผิดตำแหน่ง
               การแสดงขนาดส่วนทำได้หลายวิธี เช่น แสดงเป็นอัตราส่วน 2: 1 และ 1: 2 แสดงเป็นตัวคูณ x 1/2 และ x 2 หรือแสดงเป็นขีดไม้บรรทัดตามแนวตั้งหรือแนวนอน ระบุขนาดจริงที่ปรากฎบนตัวอย่าง เช่น ขนาดภาพยาว 1 เซ็นติเมตรเทียบเป็นขนาดจริงยาว 5 mm (2:1), 2 cm (1: 2) หรือ 1 m (1: 100) เป็นต้น
              ลายเซ็นเป็นสิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งของภาพ เพราะภาพทุกภาพเป็นลิขสิทธิ์ของผู้วาดที่ควรรักษาไว้ ลายเซ็นควรชัดเจน มีเอกลักษณ์ ไม่รกรุงรัง แต่ก็ไม่ควรมีขนาดใหญ่หรือเด่นชัดเกินไป ควรวางในตำแหน่งที่ไม่รบกวนรายละเอียดของภาพ ควรบันทึกวันที่วาดด้วย
              ภาพที่วาดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ควรถูกผนึกบนกระดาษแข็ง เช่น photo board  เพื่อป้องกันการโค้งงอ ควรเว้นขอบประมาณ 2.5 เซ็นติเมตร ไม่ควรผนึกภาพติดกับกรอบแน่นหนาเกินไป โดยเฉพาะเมื่อต้องการมีตีพิมพ์ เพราะในระบบการพิมพ์อาจจำเป็นต้องถอดภาพออกมาเข้าแท่นพิมพ์ หากจำเป็นต้องใช้กาว ควรเป็นกาวที่ไม่มีส่วนผสมของกรด หรือสารเคมีที่ทำลายสีและกระดาษ.