เกี่ยวกับสถานภาพของเผ่าพันธุ์แย้ในเวลานี้ อ.ผุสตีบอกว่า ยังไม่ถือว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์เหมือนสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นๆ แต่ถ้าเทียบแง่ปริมาณระหว่างอดีตกับปัจจุบันพบว่าลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย เพราะทุกวันนี้แย้ถูกรุกรานจากมนุษย์จำนวนมาก รวมทั้งบางคนยังชอบออกล่าสัตว์ชนิดนี้มาเป็นอาหารอีกด้วย โดยเฉพาะในภาคอีสาน ปริมาณประชากรแย้ลดลงอย่างรวดเร็ว
กับข้อสงสัยที่ว่าทำไมหลายคนจึงนิยมรับประทานกัน อ.ผุสตีแจงว่า คนที่เคยกินมาแล้วบอกว่า รสชาติคล้ายเนื้อไก่ และเนื่องจากแย้มีเนื้อน้อย การนำมาปรุงอาหารต้องใช้หลายๆ ตัว เมนูเด็ดที่ใช้เนื้อแย้มาปรุง เช่น ลาบแย้ แย้ปิ้ง เป็นต้น
ด้วยความวิตกว่า ในอนาคตประเทศไทยจะไม่เหลือสัตว์ชนิดนี้เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูกันอีกแล้ว ทีมงานของ อ.ผุสตี จึงมีโครงการเพาะเลี้ยงแย้ เพื่อการอนุรักษ์ ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี
"ความจริงเวลานี้เด็กๆ รุ่นใหม่หลายคน โดยเฉพาะเด็กในเมือง แทบจะไม่รู้จักหน้าค่าตาของเจ้าสัตว์ชนิดนี้เลย จึงคิดกันว่าควรจะเร่งขยายพันธุ์ เพื่อเพิ่มปริมาณในธรรมชาติให้มีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะที่ทางกองทัพเรือดูแลอยู่ เพราะไม่ค่อยมีใครเข้าไปรบกวน ในอนาคตอาจจะผลักดันให้แย้กลายเป็นสัตว์ประจำเกาะ เพื่อชักชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชม เหมือนต่างประเทศ เช่น
หากไปเที่ยวเกาะกาลาปากอส
จะเจอตัวอีกัวน่า และถ้ามาเที่ยวเกาะในไทยจะได้เห็นแย้
ซึ่งน่าดูไม่แพ้อีกัวน่าเลย"
หากโครงการนี้สำเร็จ นอกจากจะสร้างความสมดุลของระบบนิเวศให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ต่อไปแย้ก็จะออกมาปรากฏโฉมให้ผู้คนรู้จักหน้าตากันมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์ที่อยู่ในจินตนาการอีกต่อไป
ถึงตอนนั้นคนที่เคยถูกล้อว่าหน้าตาเหมือนแย้ จะได้รู้เสียทีว่าควรจะดีใจหรือเสียใจดี
โดย ชุติมา นุ่นมัน
หนังสือพิมพ์มติชน ประจำวันที่
8 พฤษภาคม พ.ศ. 2546
เพิ่มเติม
:
แย้เป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่งที่มีลักษ๕ณะคล้ายกิ้งก่า
แย้จัดอยู่ในครอบครัว Agamidae และสกุล
Leiolepis แย้ทั่วโลกพบเพียง 9 ชนิด เท่านั้น
แต่ในประเทศไทยพบเพียง 4 ชนิด คือ Leiolepis
belliana, Leiolepis ocellata,
Leiolepis reevesii rubritaeniata และ
Leiolepis boehmei
แย้ตัวผู้จะมีลวดลายและแถบสีด้านข้างลำตัวเข้มกว่าตัวเมีย
การแพร่กระจายของแย้ก็จะแตกต่างกัน เช่น แย้ชนิด L. belliana
พบทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งบนเกาะ ขณะที่แย้ชนิด
L. reevesii rubritaeniata
พบทั่วไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแย้ชนิด L.
boehmei พบเฉพาะบริเวณเขตจังหวัดสงขลา
และนครศรีธรรมราช
และเป็นแย้ชนิดเดียวที่พบในประเทศไทยที่มีเพศเดียวคือเพศเมีย
|