หน้า  1   2  

 
 

 
คลื่นสึนามิ
เรียกอีกอย่างได้ว่า "คลื่นทะเลที่เกิดจากแผ่นดินไหว" (seismic sea waves) แต่มักเรียกกันผิดๆ ว่า "คลื่นน้ำขึ้นน้ำลง" (tidal wave) มักจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว หรือบางครั้งเกิดจากแผ่นดินใต้ทะเลถล่ม หรือเกิดจากภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิด (แต่ไม่บ่อยครั้งนัก)  หรือเกิดจากลูกอุกาบาตพุ่งลงทะเล (แต่ก็น้อยครั้งมาก) การระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลนั้น อาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่มีความรุนแรงได้ ตัวอย่างเช่นการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟการากะตัว (krakatau) ในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 1883 ส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิสูงประมาณ 40 เมตร เข้าถล่มบริเวณชายฝั่ง พร้อมทั้งทำลายหมู่บ้านตามชายฝั่งราบเป็นหน้ากลองและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30,000 คน
          ทุกภูมิภาคของโลกที่อยู่ติดมหาสมุทรมีโอกาสที่จะโดนคลื่นสึนามิได้ทั้งหมด ทั้งนี้ประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกและในทะเลต่างๆ ที่อยู่ชายขอบ มีโอกาสถูกคุกคามจากคลื่นสึนามิ ขนาดใหญ่บ่อยกว่าประเทศอื่นๆ เพราะมีแผ่นดินไหวรุนแรง  ตามแนวใกล้ขอบของมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยมาก
 

 
 

         
         

 
 

ภาพอธิบายการเกิดแผ่นดินไหวและการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกในเชิงธรณีวิทยา ได้แบ่งโครงสร้างของโลกเป็น 3 ส่วนใหญ่ เรียกว่า เปลือกโลก (Crust) เนื้อโลก (Mantle) และแกนโลก (Core) แผ่นเปลือกโลกจะประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่  (1) ธรณีภาคชั้นนอก หรือ ลิโทสเฟียร์ (Lithosphere) ซึ่งเป็นส่วนเปลือกโลกส่วนที่เป็นของแข็งห่อหุ้มอยู่ชั้นนอกสุดของโลก และเป็นแผ่นขนาดเล็กจำนวนมากมีความหนาประมาณ 70-250 กิโลเมตร (40-150 ไมล์) (2) ฐานธรณีภาค หรือ แอสเทโนสเฟียร์ (Asthenosphere) เป็นส่วนบนสุดของชั้นเนื้อโลก มีลักษณะเป็นหินหลอมเหลวที่เรียกว่า หินหนืด (Magma) มีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นได้ อยู่ลึกจากผิวโลกลงไป 100-350 กิโลเมตร
.................................................................................................................................................
ทฤษฎีแผ่นเปลือกโลก
          ทฤษฎีแผ่นเปลือกโลก (plate tectonics) สมมุติภาพผิวโลกว่าประกอบด้วยแผ่นหินเปลือกโลก (lithospheric plates) ที่หนาประมาณ 70-250 กิโลเมตร (40-150 ไมล์) จำนวนไม่กี่แผ่น ลอยเลื่อนไปมาอยู่บนผิวโลกชั้นล่างที่เหลวและเหนียวหนืด (asthenosphere) แผ่นเปลือกโลกเหล่านี้ครอบคลุมผิวโลกทั้งหมด ทั้งที่เป็นทวีปและพื้นมหาสมุทร โดยที่มีการเคลื่อนตัวไปมาระหว่างกันในอัตราไม่เกิน 10 เซนติเมตรต่อปี  บริเวณที่แผ่นเปลือกโลกสองแผ่นมาสัมผัสกัน เรียกว่า "บริเวณขอบแผ่น" (plate boundary) (อาจเห็นภาพง่ายกว่าหากเรียกว่า "บริเวณรอยต่อระหว่างแผ่น") การบอกชนิดจะกำหนดตามวิธีเคลื่อนที่ของแผ่นหนึ่งเมื่อเทียบกับอีกแผ่นหนึ่ง รอยต่อระหว่างแผ่นมีหลายแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีเคลื่อนตัวที่แผ่นหนึ่งกระทำต่ออีกแผ่นหนึ่งซึ่งวิธีเคลื่อนตัวมีอยู่ 3 แบบ คือ

  1. แบบกระจายตัว (spreading) คือเมื่อแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นเคลื่อนที่ออกจากัน

  2. แบบมุดตัว (subduction) คือแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนเข้าหากัน โดยที่แผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งมุดเข้าไปอยู่ใต้เปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง และ

  3. แบบเปลี่ยนรูป (transform) คือแผ่นเปลือกโลกจำนวนสองแผ่นเคลื่อนที่ในแนวนอนผ่านซึ่งกันและกัน บริเวณที่มีโอกาสสูงในการเกิดคลื่นสึนามิได้คือ บริเวณที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนแบบมุดตัว (subduction zone) ซึ่งสามารถสังเกตได้จากแนวร่องลึกใต้มหาสมุทร (deep ocean trenches) และเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟ หรือแนวภูเขาไฟที่ผุดขึ้นมาคู่กับร่องลึกในบริเวณขอบมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณดังกล่าวนี้ในบางครั้งเรียกว่า วงแหวนแห่งไฟ (The Ring of Fire)
    แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ
              แผ่นดินไหวอาจเกิดมาจากภูเขาไฟระเบิด แต่แผ่นดินไหวส่วนใหญ่เกิดจากการเคลื่อนที่บริเวณรอยแตกของเปลือกโลก แผ่นดินไหวระดับที่มีความรุนแรงมากหรือที่ปล่อยพลังงานเท่ากับร้อยละ 80 ของพลังงานที่เกิดจากแผ่นดินไหวทั่วโลก มักจะเกิดขึ้นในบริเวณที่เกิดการมุดตัว ซึ่งพื้นผิวโลกใต้มหาสมุทรมีการเคลื่อนตัวมุดเข้าไปใต้พื้นแผ่นทวีปหรือใต้แผ่นท้องมหาสมุทรที่เพิ่งจะก่อตัวขึ้นมาใหม่

คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวในทะเลญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนตัวเข้าถล่มเกาะโอกุชิริ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ปี 1983 ระดับน้ำหนุนในภาพมีความสูง 5.9 เมตร (19 ฟุต) แต่ระดับน้ำหนุนวัดได้ที่จังหวัดอากิตะ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวไปทางตะวันออกประมาณ 100 กิโลเมตร มีระดับสูงถึง 14 เมตร (45 ฟุต) และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้รวมทั้งหมด 100 คน ในจำนวนนี้ 3 คนเสียชีวิตที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งคลื่นยักษ์เดินทางมาถึงภายหลังเกิดแผ่นดินไหวแล้วชั่วโมงครึ่ง (รายงานของมหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น)

          แผ่นดินไหวใช่ว่าจะทำให้เกิดคลื่นสึนามิทุกครั้งไป คลื่นสึนามิจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อแผ่นดินไหวที่รอยแตกของเปลือกโลกนั้นต้องอยู่ใต้หรือใกล้กับมหาสมุทร และไปทำให้พื้นสมุทรมีการเคลื่อนที่ในแนวตั้ง (ขนาดความสูงหลายเมตร) ในพื้นที่กว้าง (ถึงหนึ่งแสนตารางกิโลเมตร) แผ่นดินไหวในบริเวณน้ำตื้น (ลึกไม่เกิน 70 กิโลเมตร หรือ 42 ไมล์) ตามแนวการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก เป็นตัวการก่อให้เกิดคลื่นสึนามิที่มีอานุภาพในการทำลายสูงที่สุด  กลไกที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ คือ ปริมาณการเคลื่อนไหวทั้งแนวตั้งและแนวนอนของพื้นสมุทร ความกว้างของบริเวณที่เกิดการเคลื่อนไหว การทรุดตัวของชั้นตะกอนใต้ทะเลที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสั่นสะเทือน และประสิทธิภาพของการถ่ายเทพลังงานจากเปลือกโลกไปยังน้ำในมหาสมุทร (อ่านต่อ)

หน้า  1   2