.....................................................................................................................................................................................
    ตลอดระยะเวลาเกือบจะครบหกสิบปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศพระวรกายด้วยพระวิริยะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่อประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นทุรกันดาร ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พระราชกรณียกิจเหล่านี้ มิได้แต่เพียงแสดงถึงความห่วงใย และความเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น  หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาบ้านเมือง อันเป็นเสมือนดวงประทีปนำทางให้เกิดโครงการตามแนวพระราชดำริหลากหลาย ทั้งในด้านการเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์อีกด้วย นอกจากนี้แล้ว พระอัจฉริยภาพทางดนตรียังเป็นที่ประจักษ์และยกย่องของนานาประเทศทั่วโลก แต่ที่สำคัญที่สุดทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร จนได้รับพระฉายาว่าทรงเป็นเกษตราธิราช ของปวงชนชาวไทย ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2547 ขอถวายพระเกียรติโดยนำพระราชดำรัสอันสำคัญในด้านการเกษตรมาเผยแพร่แก่ชนทั้งปวง ณ ที่นี้..

 
 
 
 

 


."...ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำสัน อีกประการหนึ่ง ที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้ว ควรปลูกพืชอื่นๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป..."

 

 


"...การทำการเกษตรกรรมนั้นจะต้องมีวิชาการ วิชาการแผนใหม่ สมัยใหม่ ที่ก้าวหน้า เช่น ใช้ปุ๋ย วิธีใช้ปุ๋ย วิธีใช้ยาต่างๆ วิธีใช้เครื่องกลต่างๆ อันนี้ทุกคนก็ปรารถนาที่จะก้าวหน้าเป็นคนสมัยใหม่ เป็นคนที่ใช้วิชาการวิทยาการแผนใหม่ คือ หมายความว่าอะไร เครื่องจักรกลทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ค้นคว่ามาก็ได้ใช้ ในข้อนี้ต้องคิดดีๆ บางคนมุ่งที่จะเป็นคนสมัยใหม่ มุ่งจะเป็นคนก้าวหน้า ใช้วิชาการ ใช้วิทยาการ ใช้ที่เรียกว่าเทคโนโลยี คำนี้ก็คงจะเข้าใจ เทคโนโลยีก็หมายความถึงเครื่องกลต่างๆ ที่เขาค้นคว้ามา เขาเอามาขายเราในราคาแพง แล้วก็เวลาปฏิบัติก็ต้องมีความรู้ช่างกล มีความรู้ในทางวิชาการมากขึ้น ข้อนี้เป็นข้อดีเหมือนกันที่จะก้าวหน้า แต่หมายความว่าทุกคน สมาชิกทุกคนต้องเรียนรู้วิชาการให้ใช้วิทยาการต่างๆ นี้ให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลเสียหายได้..."




 


"...เกษตรมีความสำคัญจริง ถ้าไม่มีการเกษตรก็เกือบจะพูดได้ว่าเราจะต้องตายกันหมด เพราะจะไปอาศัยอาหารวิทยาศาสตร์ก็รู้สึกว่าลำบากอยู่และกินไม่อิ่ม แต่ว่าทำไมคนถึงนึกว่าการเกษตรนี่เป็นสิ่งที่ต่ำต้อยที่ไม่สำคัญ ทั้งๆ ที่ความจริงเราต้องอาศัยการเกษตรเพื่อชีวิตของเรา ไม่ใช่เฉพาะสำหรับอาหารเท่านั้น สำหรับสิ่งอื่นทั้งหลายด้วยที่เราต้องอาศัยการเกษตร อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าประหลาด ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดเหมือนกัน คอืได้พบว่า การเกษตรนั้น่ะไม่ใช่เฉพาะการเอาเมล็ดผักไปหยอดในร่อง แล้วมันจะขึ้นมาเป็นผลผลิตที่เหมาะสมได้ หากแต่ต้องอาศัยวิชาการอย่างอื่นทุกด้าน ตั้งแต่การหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปในร่อง จนกระทั่งให้ฝักหรือสิ่งนั้นงอกขึ้นมาเป็นประโยชน์ได้ ต้องอาศัยทุกอย่างในชีวิตของคน คือทุกสาขาของความรู้ที่ต้องผ่านมา..."


 


"...ควรปลูกหญ้าแฝกบริเวณเหนือแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ลำห้วย และอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น เพื่อให้หญ้าแฝกเป็นแนวป้องกันตะกอน และดูดซับสารเคมี ตลอดจนของเสียต่างๆ ที่ไหลลงในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะสารไนเตรท ที่ไหลมาจากสนามกอล์ฟ เพราะหญ้าแฝกนอกจากจะช่วยป้องกันตะกอนดินแล้ว ยังดูดซับสารเคมีต่างๆ เช่น ไนเตรท และสารพิษต่างๆ ไว้ในรากและลำต้นได้นาน จนสารเคมีนั้นสลายตัว และไม่เป็นอันตรายต่อคนข้างล่าง..."


 


"...การปลูกป่าบนภูเขาต่างๆ ในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ควรดำเนินการโดยวิธีที่เรียกว่า "ป่าเปียก" หรืออาจเรียกว่า "ภูเขาป่า" ก็ได้ แต่ปัจจุบันฝนตกน้อย จึงจำเป็นต้องจัดสร้างระบบส่งน้ำด้วยวิธีสูบน้ำขึ้นไปพักในบ่อพักน้ำบนภูเขา แล้วทำระบบกระจายน้ำ ช่วยการปลูกป่าแบบกึ่งถาวร คือประมาณ 3-4 ปี เมื่อไม้โตพอสมควรก็จะมีความชุ่มชื้น และจะช่วยดูดความชื้นจากธรรมชาติด้วย จากนั้นจึงย้ายระบบส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ใหม่ต่อไป..."




 


"...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ ก็คือ การควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อน้ำมีปริมาณมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำอาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้นก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบกระเทือนแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง..."


 

ข้อมูลจาก หนังสือ ' พระบิดาของแผ่นดิน ' ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ..ในงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2540