พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับดนตรี

king5.gif (100026 bytes)

 
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องดนตรี  และอิทธิพลของดนตรีที่มีต่อความคิดและจิตใจของมวลมนุษย์ ตลอดจนกระบวนการใช้เสียงดนตรีและบทเพลงในการสร้างสรรค์ความบันเทิง รวมทั้งปลูกฝังแนวคิดที่ดีงาม เช่น ความรักชาติบ้านเมือง ความสามัคคีพร้อมเพรียง ให้เกิดขึ้นในสังคมและหมู่คณะ พร้อมทั้งตระหนักถึงอิทธิพลของดนตรีในทางลบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมืองได้
          พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับดนตรีเป็นเสมือนสติเตือนใจแก่บรรดาเยาวชน นักดนตรี และมวลพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ให้มีความเข้าใจลึกซึ้งเรื่องดนตรีและอิทธิพลที่พึงมีต่อสังคม หมู่คณะ และประเทศชาติ นอกเหนือไปจากความบันเทิงรื่นเริงใจและสาระประโยชน์ที่ได้จากเพลงหรือดนตรีโดยทั่วไป

          ความสำคัญของศิลปะการดนตรี
          ในกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายหลังที่สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศนียบัตรเกียรติคุณชั้นสูง ให้ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์หมายเลข 23 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสตอบเป็นภาษาเยอรมัน ( ต่อมา ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ได้แปลและถ่ายทอดเป็นภาษาไทย) ทรงกล่าวถึงความสำคัญของดนตรีว่า
          "...ดนตรีทุกชนิดเป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่ง มนุษย์เกือบทั้งหมดชอบและรู้จักดนตรี ตั้งแต่เยาว์วัยคนเริ่มรู้จักดนตรีบ้างแล้ว ความรอบรู้ทางดนตรีอย่างกว้างขวางย่อมขึ้นกับเชาวน์ และสามารถในการแสดงของแต่ละคน อาศัยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า ในระหว่างศิลปะนานาชนิด ดนตรีเป็นศิลปะที่แพร่หลายกว่าศิลปะอื่นๆ และมีความสำคัญในด้านการศึกษาของประชาชนทุกประเทศด้วย..."

     จากหนังสือ ณ สถิตในดวงใจนิรันดร์ สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติโดยโรงเรียนจิตรลดา