คำนำ I ประวัติความเป็นมา I ป่าชายเลนจังหวัดเพชรบุรี I พันธุ์ไม้ที่ปลูก I คุณภาพดิน I คุณภาพน้ำ I ชนิดของสัตว์ I สาหร่ายและหญ้าทะเล

 
  ่าชายเลนจังหวัดเพชรบุรี :

        จังหวัดเพชรบุรีมีชายฝั่งทะเลอยู่บริเวณก้นอ่าวไทย มีไหล่ทวีปกว้างแลยาว และจัดเป็นเขตทะเลค่อนข้างตื้น บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดเพชรบุรี เป็นรอยต่อของน้ำจืด ซึ่งไหลมาจากแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่ทะเลด้านชายฝั่งตะวันตกของอ่าวไทยที่บริเวณปากอ่าวบ้านบางตะบูน และปากอ่าวบ้านแหลม ทางตอนเหนือกับน้ำทะเล จึงทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศน้ำกร่อย (brackish water ecosystem) ขึ้นและประกอบกับจังหวัดเพชรบุรีที่มีหาดเลนยาว มีธาตุอาหารและอินทรียวัตถุค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะจากชายฝั่งตอนเหนือ คือตั้งแต่ปากอ่าวบางตะบูนจนถึงแหลมหลวง ซึ่งบริเวณนี้มีพื้นที่หาดเลนกว้าง มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ หาดเลนบริเวณนี้เกิดจากตะกอนจากแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำแม่กลองของจังหวัดสมุทรสงคราม  โดยอิทธิพลของกระแสน้ำที่นำเอาเลนโคลนมาทับถมอีกทางหนึ่ง นอกจากจะพัดพามาจากทะเลโดยตรงแล้ว จากสภาพและลักษณะต่างๆ ของพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น มีความเหมาะสมต่อการเกิดและเจริญเติบโตของป่าชายเลนเป็นอย่างมาก
          ป่าชายเลนเป็นสังคมพืชไม่ผลัดใบ ประกอบด้วยพืชพรรณนานาชนิด และสัตว์นานาพันธุ์ ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณน้ำกร่อย ดินเลน และมีน้ำทะเลท่วมถึงสม่ำเสมอ  เช่น ตามบริเวณที่ราบชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ ทะเลสาบ ลำคลอง และเกาะแก่งต่างๆ ชาวบ้านทั่วๆไป เรียกว่า "ป่าโกงกาง" โดยเรียกชื่อตามพันธุ์ไม้ที่มีปริมาณมาก และมีบทบาทสำคัญที่สุดในระบบนิเวศน์ป่าชายเลน คือไม้โกงกางนั่นเอง

   
   

ป่าชายเลนที่มีสภาพสมบูรณ์และสวยงาม
บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดเพชรบุรี
 

ป่าชายเลนที่งอกและเจริญเติบโตขึ้นใหม่บริเวณงอกชายฝั่งทะเลของจังหวัดเพชรบุรี พันธุ์ไม้ที่ขึ้นริมฝั่งทะเลส่วนใหญ่เป็นไม้แสมทะเล

 
   

          ป่าชายเลนของประเทศไทย สำรวจในปี พ.ศ. 2536 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,054,266 ไร่ ซึ่งขึ้นอยู่ทางภาคใต้ชายฝั่งทะเลตะวันตก หรือด้านทะเลอันดามัน ประมาณ 860,394 ไร่ และภาคใต้ชายฝั่งทะเลตะวันออกด้านอ่าวไทย ประมาณ 108,031 ไร่ สำหรับภาคกลางมีป่าชายเลนประมาณ 18,270 ไร่  ส่วนด้านตะวันออกเคยมีป่าชายเลนอย่างอุดมสมบูรณ์ในอดีต โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีเพียงแห่งเดียว ซึ่งเคยมีป่าชายเลนอยู่เกือบแสนไร่ แต่ปัจจุบันทั้งภาคตะวันออกมีป่าชายเลนเหลือเพียง 67,571 ไร่ เท่านั้น
          ป่าชายเลนของจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่ทั้งสิ้นค่อนข้างประมาณ 2,725 ไร่ เท่านั้น และมีพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะปลูกป่าชายเลนขึ้นมาใหม่ได้คือบริเวณดินเลนงอกชายฝั่งทะเลติดกับป่าชายเลนอีกประมาณ 2,000 ไร่ ป่าชายเลนและบริเวณดินเลนงอกชายฝั่งทะเลที่พบในจังหวัดเพชรบุรีประกอบด้วย

  • พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติปากทะเล ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม ป่าชายเลนปกคลุมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ และมีพื้นที่เลนงอกใหม่ชายทะเลประมาณ 700 ไร่

  • พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม ป่าชายเลนปกคลุมพื้นที่ประมาณ 625 ไร่ และมีพื้นที่เลนงอกชายทะเลประมาณ 1,000 ไร่

  • พื้นที่ป่าชายเลนแหลมผักเบี้ย ตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม มีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งเป็นป่าธรรมชาติประมาณ 500 ไร่ และป่าพื้นที่ป่าชายเลนที่ที่ปลูกประมาณ 500 ไร่ และมีพื้นที่งอกชายทะเลประมาณ 300 ไร่

 

   ป่าชายเลนของจังหวัดเพชรบุรีจะพบมากที่สุดอยู่ในท้องที่อำเภอบ้านแหลม นอกจากนั้นยังพบป่าชายเลนอยู่บ้างแต่พื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  โดยเฉพาะตามท้องที่อำเภอติดชายฝั่งทะเล เช่น อำเภอเมือง อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ เป็นต้น
        พันธุ์ไม้ป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้จากการศึกษาสำรวจพบว่ามีหลายชนิดที่สำคัญและพบปริมาณมาก ได้แก่ แสมทะเล (
Avicennia marina )  แสมขาว (A. alba ) แสมดำ (A. offialis ) โกงกางใบเล็ก ( Rhizophora apiculata ) โกงกางใบใหญ่

 

(R. mucronata ) พังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorhiza ) ถั่วขาว (B. cylindirica ) โปรงแดง (Ceriops tagal ) ลำพู (Sonneratia caseolaris )  ลำแพน (Sonneratia ovata )  ตาตุ่ม (Excoeceria agallocha )  โพธิ์ทะเล (Thespesia populnea ) นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้พื้นล่างอีกหลายชนิด เช่น หวายลิง (Flagellaria indica ) เถาถอบแถบ (Derria trifoliata ) ปรงทะเล (Acrostichum aureum )  เป้ง (Phoenix paludosa )  และผักเบี้ยทะเล (Sesuvium portulacastrum ) เป็นต้น
         
  การขึ้นอยู่ของพรรณไม้ป่าชายเลนเหล่านี้ จะขึ้นอยู่เป็นแนวเป็นเขตของพันธุ์ไม่แต่ละชนิด (species zonation) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและที่สำคัญคือความลาดของพื้นที่ การท่วมถึง ระยะเวลา และจำนวนครั้งของน้ำทะเลที่ท่วมในแต่ละพื้นที่ ลักษณะของดิน คุณภาพน้ำทะเล โดยเฉพาะความเค็มของน้ำที่แตกต่างกัน จากการศึกษาลักษณะป่าชายเลนจากฝั่งทะเลลึกเข้าไปในด้านในของป่าชายเลนของจังหวัดเพชรบุรี พบว่าบริเวณพื้นที่ติดทะเลหรือชายฝั่งทะเลจะพบพวกไม้แสม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแสมทะเล ด้านหลังไม้แสมจะเป็นพวกไม้โกงกาง และหลังแนวนี้จะเป็นพังกาหัวสุมและโปรง ส่วนด้านหลังสุดจะเป็นพวกตาตุ่มและโพธิ์ทะเล อย่างไรก็ตามบริเวณติดชายฝั่งทะเล ถ้าดินมีสภาพเป็นดินทรายและเลนปนบ้างเล็กน้อย จะพบพวกไม้ลำพู ลำแพน ขึ้นอยู่บ้าง ปรงทะเลจะพบอยู่ทั่วไป โดยจะขึ้นหนาแน่นในพื้นที่ที่ป่าชายเลนถูกตัดฟันทำลาย อย่างไรก็ตามป่าชายเลนที่พบอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ค่อนข้างสมบูรณ์มีความหนาแน่นของไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโตกว่า 10 เซนติเมตร ถึงประมาร 350 ต่อไร่ ซึ่งคิดเป็นปริมาตรไม้ประมาณ 12 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ซึ่งไม้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกไม้แสม โดยเฉพาะแสมทะเล การสืบพันธุ์ตามธรรมชาติค่อนข้างดี ซึ่งมีความหนาแน่นเฉลี่ยของลูกไม้ไม้และกล้าไม้ประมาณ 2,300 ต้นต่อไร

      พื้นที่ป่าชายเลนของจังหวัดเพชรบุรี ก็เช่นเดียวกับป่าชายเลนของจังหวัดอื่นของประเทศคือ ปัญหาการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อประโยชน์หรือกิจกรรมอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากการสำรวจศึกษาการลดลงของพื้นที่ป่าชายเลนของจังหวัดเพชรบุรี ในระยะเวลาต่างกัน คือ

  • ปี พ.ศ. 2518   มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ   55,000  ไร่

  • ปี พ.ศ. 2522   มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ   48,700  ไร่

  • ปี พ.ศ. 2529   มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ     3,606  ไร่

  • ปี พ.ศ. 2532   มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ    3,056   ไร่

  • ปี พ.ศ. 2534   มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ    2,100   ไร่

  • ปี พ.ศ. 2536   มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ    2,625   ไร่

พื้นที่ป่าชายเลนที่เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ปลูกขึ้นและเป็นป่าชายเลนที่สามารถงอกและเจริญเติบโตขึ้นในพื้นที่ชายเลนงอกใหม่อีกด้วย
   ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าชายเลนในจังหวัดเพชรบุรีส่วนใหญ่จะนำไปใช้ทำนากุ้ง และนอกจากนั้นจะนำไปใช้เป็นที่อยู่อาศัย แหล่งชุมชน โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว สร้างถนน สถานที่ราชการ และนาเกลือ เป็นต้น

พื้นที่ป่าชายเลนที่ถูกบุกรุกนำไปใช้ในการทำนากุ้ง เป็นพืนที่อย่างกว้างขวางในจังหวัดเพชรบุรี

พื้นที่ป่าชายเลนถูกทำลายเพื่อใช้ประโยชน์หรือกิจกรรมอย่างอื่นๆ ในจังหวัดเพชรบุรี

 
 

          ป่าชายเลนจังหวัดเพชรบุรี มีคุณค่ามหาศาล หากสามารถอนุรักษ์ไว้ได้ กล่าวคือ จะเป็นแหล่งสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นแหล่งธาตุอาหารที่สำคัญของชายฝั่ง ช่วยป้องกันการกัดชะดินชายฝั่งและป้องกันลมพายุ ช่วยฟอกน้ำเสียชายฝั่งให้เป็นน้ำสะอาด และช่วยเก็บกักสิ่งปฏิกูลต่างๆ จากตัวเมืองที่ปลดปล่อยลงสู่ชายฝั่งและทะเล และสุดท้ายจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจได้อีกทางหนึ่งด้วย

 
...................  
ที่มาของข้อมูล : หนังสือสวนป่าชายเลนทูลกระหม่อม (เล่ม 1 การศึกษาวิจัยเบื้องต้น)จัดทำโดย สำนักงาน กปร.  

 

ชมรมนักชีววิทยา อพ.สธ.  สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ. สวนจิตรลดา เขตดุสิต กทม.
โทร. 02-2821850, 02-2820665  หรือ  Email :
bio_club@rspg.org