ประวัติความเป็นมา
พระบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ในพุทธศักราช 2325 มีพระบรมราชโองการให้สร้างพระนครและสถาปนาพระราชมณเฑียรสถานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระราชมณเฑียรสถานเมื่อแรกสร้างทำแค่พอเป็นที่ประทับ ล้อมรอบด้วยปราการระเนียดไม้สำหรับตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษก หลังจากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทราชมณเฑียร พระตำหนัก เรือนหลวง โดยครบถ้วน รวมทั้งพระอารามในเขตพระราชฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระราชทานนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อการทั้งปวงแล้วเสร็จ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามโบราณราชประเพณี และมีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อพุทธศักราช 2328 ความสำคัญของพระบรมมหาราชวัง นับแต่โบราณมา นอกจากเป็นพระราชฐานที่ประทับของพระมหากษัตริย์แล้ว พระบรมมหาราชวังยังเป็นศูนย์กลางการปกครองของบ้านเมือง เพราะเป็นสถานที่ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินและทรงประกอบพระราชพิธีต่างๆ ตามโบราณราชประเพณี เขตพระราชฐานจึงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นสถานที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับราชการที่พระมหากษัตริย์ทรงกำกับดูแลใกล้ชิดพระเนตรพระกรรณ เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นสถานที่ตั้งพระมหาปราสาท พระที่นั่ง ท้องพระโรงที่เสด็จออกทรงว่าราชการ ทรงประกอบพระราชพิธี และเสด็จออกรับแขกเมืองที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรี เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นที่รโหฐาน สำหรับประทับส่วนพระองค์ พร้อมด้วยพระอัครมเหสี พระราชโอรส พระราชธิดา และเป็นที่อยู่ของข้าราชสำนักฝ่ายใน ผู้ที่จะผ่านเข้าออกเขตพระราชฐานชั้นในได้มีเพียงสตรี ถ้าบุรุษ เช่น พระสงฆ์ แพทย์หลวง และเจ้าพนักงาน มีภารกิจหน้าที่จะต้องเข้าไปทำการในเขตพระราชฐานชั้นใน ต้องมีพนักงานโขลนกำกับไปด้วยทุกแห่งจนกว่าจะกลับออกมา คติความเชื่อเนื่องด้วยพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากสังคมไทยยกย่องเทิดทูนพระมหากษัตริย์ไว้ในฐานะสูงสุด คือทรงเป็นสมมติเทวราช ตามคติความเชื่อที่รับมาจากศาสนาต่างๆ นอกจากนั้นยังทรงเป็นพระโพธิสัติว์ พระพุทธเจ้า ดังจะเห็นได้จากคำเรียกพระราชอิศริยยศ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว และพระราชสมัญญาเป็น ธรรมราชา ซึ่งมีความหมายว่า ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรมและสังคหวัตถุ ด้วยเหตุนี้ การตกแต่งประดับประดาพระราชมณเฑียรสถาน จึงแฝงเร้นด้วยคติความเชื่อถือต่างๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศ เช่น สถาปนาพระมหาปราสาทอันเป็นเหมือนพระวิมานแห่งเทพเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน ลวดลายประดับ เช่น รูปพระนารายณ์ทรงครุฑ หมายถึง พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นเทพอวตารมาปราบยุคเข็ญ การประดิษฐานพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระมหาเศวตรฉัตรเก้าชั้นเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเป็นสมมติเทวราช ประดุจประทับอยู่เหนือพระสุเมรุราช เป็นต้น การบูรณะปฏิสังขรณ์
พระบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์นับแต่สถาปนาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นต้นมา
สมเด็จพระมหากษัตริยิยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีทุกพระองค์ได้ทรงทะนุบำรุงและทรงสร้างสิ่งต่างๆ
ไว้โดยลำดับ
การปฏิสังขรณ์พระบรมมหาราชวัง
และวัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่มักมีทุก
50 ปี
เนื่องจากเป็นเวลาที่ถาวรวัตถุสถานต่างๆ
เริ่มชำรุดทรุดโทรมลง
เช่น
การปฏิสังขรณ์ในโอกาสฉลองพระนครครบรอบ
100 ปี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การปฏิสังขรณ์ในงานฉลองพระนครครบ
150 ปี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และการบูรณะปฏิสังขรณ์ในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ
200 ปี ในพุทธศักราช 2525
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี
ทรงเป็นแม่กองอำนวยการบูรณะปฏิสังขรณ์ |