บุกคนโท
ชื่อพฤกษศาสตร์: Amorphophallus muelleri Blume
วงศ์ : ARACEAE
ชื่ออื่น : บุกกลอย
ไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวใต้ดิน รูปทรงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางถึง 20 เซนติเมตร ใบประกอบออกจากหัวใต้ดิน แผ่กว้าง 0.75-2 เมตร แยกออกเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนมีใบย่อยเรียงแบบขนนก เว้าลึกถึงแกนช่อใบ มีตาเป็นก้อนกลมบริเวณง่ามใบ ใบย่อยรูปหอกแกมรูปรี ยาว 0.40-1.8 เมตร ดอกแยกเพศ ขนาดเล็ก จำนวนมาก ออกบนแกนช่อ ยาว 8-30 เซนติเมตร กาบหุ้มช่อดอกส่วนบนรูปไข่กว้าง ยาว 7.5-27 เซนติเมตร แผ่กว้าง ขอบม้วนออกเล็กน้อย ด้านนอกสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมขาว ด้านในสีชมพูอ่อน ส่วนล่างของกาบม้วนเป็นหลอด ส่วนบนสุดของแกนช่อดอกเป็นรยางค์ โผล่เหนือกาบหุ้มช่อดอก รูปกรวย ปลายเรียวแหลม ถัดลงมาเป็นดอกเพศผู้ ส่วนล่างของแกนช่อดอกเป็นดอกเพศเมีย ก้านช่อดอกยาว 30-60 เซนติเมตร สีเขียว มีรอยจุดประสีขาว
เขตกระจายพันธุ์และถิ่นกำเนิด : ภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย ต่างประเทศพบที่ฝั่งทะเลอันดามันของพม่า เกาะสุมาตร ชวา และติมอร์ ขึ้นบนพื้นที่โล่งตามป่าเบญจพรรณและป่าละเมาะโปร่ง ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร ออกดอกเดือน เมษายน - พฤษภาคม
สถานภาพ : พืชหายาก