กรรณิการ์
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nyctanthes arbor-tristis L.
วงศ์ OLEACEAE
ชื่อสามัญ : Night  blooming jasmine
ชื่ออื่น กณิการ์ , กรณิการ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสาก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 2-6 ซม. ยาว 3.5-10 ซม. ปลายแหลมหรือยื่นเป็นติ่งแหลม โคนมน ขอบเรียบหรือจักแหลมใกล้ๆ โคนใบ แผ่นใบหนาสากมือ มีขนแข็งตามแผ่นใบและเส้นใบ ตามขอบใบอาจมีขนแข็งๆ เส้นแขนงใบข้างละ 3-4 เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ช่อดอกออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว 1.2-2 ซม. มีใบประดับรูปคล้ายใบเล็กๆ 1 คู่ที่ก้านช่อดอก แต่ละช่อมี 3-7 ดอก กลิ่นหอม บานตอนเย็นและจะร่วงในเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่มีก้านดอก แต่ละดอกมีใบประดับ 1 ใบ ดอกตูมมีกลีบดอกเรียงซ้อนกันและบิดเป็นเกลียว กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ติดกันเป็นหลอดรูปกรวยปลายตัดหรือหยักตื้นๆ 5 หยัก ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดสีแสด ยาว 1.1-1.3 ซม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนยาวๆ สีขาวที่โคนหลอด ปลายหลอดแยกเป็นกลีบสีขาว 5-8 กลีบ แต่ละกลีบยาว 0.9-1.1 ซม. โคนกลีบแคบ ปลายกลีบกว้างและเว้าลึก เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอกตรงบริเวณปากหันด้านหน้าเข้าหากัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับหลอดดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กลม มี 2 ช่อง มีออวุลช่องละ 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียมีอันเดียว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มมีขน ผลรูปไข่หรือกลม ค่อนข้างแบน ปลายมีติ่งสั้นๆ
          กรรณิการ์มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดเนเซีย

ประโยชน์ :  นอกจากปลูกประดับแล้ว ในด้านสมุนไพร ดอกมีสาร nyctanthin ให้สีเหลืองอมแสด ใช้ทำสีย้อมผ้า ในอินโดเนเซีย มาเลเซีย และอินเดียใช้ดอกเป็นยาขับประจำเดือน ในอินเดียใช้ใบซึ่งมีรสขมเป็นยาแก้ไข้ และใช้ขับพยาธิ (Burkill,1966) ในประเทศไทยใช้ใบสดตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร ถ้ากินมากทำให้ระบาย (พเยาว์,2526)
ที่มาของข้อมูล
อนุกรมวิธานพืชอักษร ก. ฉบับราชบัณฑิตสถาน เรียบเรียงเรื่องโดย รศ.บุศบรรณ ณ สงขล