ยอป่า
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Morinda coreia   Ham.
วงศ์ :  RUBIACEAE
ชื่อสามัญ -
ชื่ออื่น คุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)  คุย (พิษณุโลก) สลักป่า สลักหลวง (ภาคหเนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 4-25 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมรี ตามก้านและกิ่งอ่อนมีขนนุ่มทั่วไป ลำต้นมักคดงอ เปลือกสีเทาปนน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดเล็กตามยาวลำต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบรูปไข่กลับหรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 4-11 ซม. ยาว 8-23 ซม. ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบคอดและสอบไปสู่ก้านใบหรือบิดเบี้ยว ผิวใบด้านบนมีขนสากประปราย ด้านล่างมีขนนุ่มหนา ขอบใบเป็นคลื่น เส้นแขนงข้างใบข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบยาว 1.5-3 ซม. ดอก สีขาว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบกระจุก แน่นติดกันเป็นก้อนกลม หรือเบี้ยว ตามปลายกิ่งหรือซอกใบ กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปแจกันทรงสูง ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง 2-2.5 ซม. ผล เป็นผลรวมสีเขียว ทรงบิดเบี้ยหรือกลม ขนาด 2-3 ซม. ผิวนอกผลเป็นปุ่มปมมีขน เนื้อเยื่อข้างในสีขาวมีน้ำมาก ก้านผลมีขนสั้นนุ่มยาว 1.5 ซม. เมล็ดบิดเบี้ยว ไม่มีปีก
         ยอป่ากระจายอยู่ตามป่าเบญจพรรณแล้ง ออกดอกประมาณเดือน พฤศจิกายน - ธันวาคม เป็นผลเดือน ธันวาคม-มกราคม
ประโยชน์
:  เป็นไม้ที่ปลูกให้ร่วมเงาในสวนทั่วไปได้ ดอกมีกลิ่นหอม รากแก้เบาหวาน ใบสดตำพอกศีรษะเป็นยาฆ่าเหา ผลอ่อนรับประทานเป็นยาแก้คลื่นเหียนอาเจียน ผลสุกงอม เป็นยาขับระดูสตรีและขับลมในลำไส้ เปลือก ราก เนื้อไม้ และใบให้สีแดง ใช้ย้อมผ้า