ขี้เหล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Senna siamea
(Lam.) Irwin &
Barneby
วงศ์ :
LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE
ชื่อสามัญ
: Cassod tree, Thai
copper pod
ชื่ออื่น : ขี้เหล็กแก่น
(ราชบุรี) ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง, สุราษฎร์ธานี)
ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง)
ผักจี้ลี้ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) แมะขี้เหละพะโดะ
(เขมร-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (มลายู-ปัตตานี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8-15 เมตร
พบขึ้นตามป่าดิบแล้งริมลำธารทั่วๆไป
เรือนยอดแผ่เป็นพุ่มแคบๆ เปลือกสีเทาปนน้ำตาลอ่อนๆ
แตกตามความยาวของลำต้นเป็นร่องตื้นๆ ใบ เป็นช่อ
มีใบย่อย 13-19 ใบ หรือมากกว่านี้ใน 1 ก้าน
เรียบไม่มีขน ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมเขียว ดอก
สีเหลืองเข้ม ออกเป็นช่อใหญ่แยกแขนงตามปลายกิ่ง
และรวมกันอยู่เป็นกระจุกที่ปลายก้าน กระจุกหนึ่งๆ
มีมากกว่า 10 ดอก ดอกบานไม่พร้อมกัน
ก้านดอกค่อนข้างยาว 1.0-1.5 ซม. กลีบรองกลีบดอกมีจำนวน
3-4 กลีบ ปลายกลีบมน โคนกลีบสอบเข้าหากันคล้ายรูปถ้วยตื้นๆ
กลีบดอกมีจำนวน 5 กลีบ ขนาดเท่าๆ กัน หลุดร่วงง่าย
ดอกที่บานเต็มที่วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-4.0 ซม.
หรือมากกว่า เกสรผู้มีจำนวนมาก
เกสรเมียมีเพียงอันเดียว ยาวเด่นยื่นออกมาจากกลางวงดอก
ยาว 0.75-1.5 ซม. ผล เป็นฝักแบนค่อนข้างหนา
สีน้ำตาลคล้ำ กว้าง 1.3 ซม. ยาว 15-23 ซม.
ออกดอกระหว่างเดือน
กรกฎาคม-สิงหาคม
ประโยชน์
:
นอกจากจะปลูกเป็นไม้ประดับสวยงามและเป็นผักสวนครัวรั้วกินได้แล้ว
เนื้อไม้ซึ่งมีสีน้ำตาลแก่หรือบางคราวแก่เกือบดำ
มีลายเส้นเป็นสีแก่หรือสีอ่อนกว่าพื้น เสี้ยนตรง
เนื้อค่อนข้างหยาบ แข็ง เหนียว หนักมาก ทนทาน
เลื่อยไสกบตบแต่งค่อนข้างยาก ขัดชักเงาได้ดี
ใช้ทำเสาเรือน รอด ตง ด้ามเครื่องมือ ลูกประสัก ลูกหีบ
กระสวย ไม้เท้า ด้ามร่ม แก่น
ใช้ต้มรับประทานเป็นยาแก้กามโรค แก้หนองใน เข้าข้อ
ออกดอก แผลฝี แก้โลหิต ขับน้ำคาวปลา
ดอกตูมและใบอ่อน รับประทานให้ท้องระบายอ่อนๆ ใบ
รับประทานขับระดูขาว แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ดอก
ลดความดันโลหิต แก้หิด ล้างศีรษะแก้รังแค เปลือก
แก้ริดสีดวง สารที่สกัดด้วยเหล้าโรงของใบอ่อนและดอกตูม
สามารถช่วยให้นอนหลับ เนื่องด้วยมีสารเป็นอนุพันธ์โครโมนชื่อ
"บาราคอล" (baracol)
สารนี้ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางช่วยคลายเครียดและทำให้นอนหลับ
แต่ไม่ใช่เป็นยานอนหลับโดยตรง วิธีใช้คือ
นำใบอ่อนและดอกตูมแห้ง 150 กรัม เติมเหล้าโรงพอท่วม
แช่ทิ้งไว้ 5-7 วัน คนบ่อยๆ กรองเอากากออก
ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนชา ก่อนนอน
ข้อห้ามใช้ :
สำหรับขี้เหล็กมีฤทธิ์ช่วยในการนอนหลับ ปัจจุบันนักวิชาการค้นพบว่าสารที่ช่วยให้นอนหลับนั้นทำให้ตับอักเสบ
ทางกองการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
ให้หยุดการใช้ส่วนของใบไว้ก่อนเพื่อทำการวิจัยต่อไป
|