ขะเจ๊าะ
ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Millettia leucantha
Kurz
วงศ์ :
LEGUMINOSAE - PAPILIONOIDEAE
ชื่อสามัญ
:
ชื่ออื่น :
กะเซาะ (กลาง) กระเจาะ ขะเจาะ (เหนือ)
กระพี้ควาย (ประจวบคีรีขันธ์) ขะแมบ คำแมบ (เชียงใหม่)
สาธร
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง
ผลัดใบ แต่ผลิใบใหม่ไว สูง 8-20 เมตร ลำต้นเปลา ตรง
เปลือกสีเทา ผิวเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ทั่วไป
เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนยาวๆ
เป็นเส้นไหมคลุม ใบ เป็นช่อ ช่อติดเรียงสลับ ยาว 20-30
ซม. โคนก้านช่อจะมีหูใบเล็กๆ อาจจะแหลมหรือมนปรากฎอยู่
แต่ละช่อมีใบย่อยรูปรีๆ
รูปรีแกมรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน ติดเป็นคู่ๆ
ตรงข้ามกัน 3(-5) คู่
ปลายสุดของก้านช่อจะเป็นใบเดี่ยวๆ ใบย่อยกว้าง 3-5.5
ซม. ยาว 5-12 ซม. โคนและปลายใบสอบ เนื้อใบค่อนข้างหนา
ท้องใบเป็นคราบขาว หรือออกสีจางกว่าด้านหลังใบ
มีขนนุ่มๆ ทั้งสองด้านในช่วงที่ใบยังอ่อนอยู่
ส่วนใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง เส้นแขนงใบ มี
8-11 คู่ ขอบใบเรียบ ดอก สีขาว รูปทรงแบบดอกถั่ว
ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่ง และง่ามใบ
ช่อดอกไม่มีช่อแขนง ดอกยาวประมาณ 1.5 ซม.
กลีบฐานดอกติดกันเป็นรูปถ้วย ขอบแยกเป็น 4 แฉก
และมีขนสั้นๆ คลุม กลีบดอกมีก้านชูเด่นชัด
กลีบคลุมรูปมนคล้ายโล่ กลีบปีก ทรงรูปขอบขนาน
ปลายกลีบมน ส่วนกลีบกระโดงจะเชื่อมติดกัน ทรงโค้งๆ
คล้ายเรือ หรือพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว เกสรผู้มี 10 อัน
โคนก้านอับเรณูเชื่อมติดกัน รังไข่รูปรีๆ
ภายในมีช่องเดียว แต่มีไข่อ่อนหลายหน่วย ฝัก
เป็นฝักผิวแข็ง รูปทรงแบนยาวคล้ายมีดดาบ กว้างประมาณ 2
ซม. ยาว 4-10 ซม.
ส่วนที่กว้างที่สุดจะอยู่ค่อนไปทางปลายฝัก
โคนฝักสอบแคบ ฝักอ่อนมีขนสั้นๆ คลุม
ฝักแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง
ฝักแก่จะแตกอ้าตามรอยประสาน เมล็ดสีน้ำตาล รูปร่างแบนๆ
คล้ายโล่ โตวัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.3 ซม.
แต่ละฝักมี 1-3 เมล็ด
ออกดอกระหว่างเดือน
มีนาคม-พฤษภาคม ผลจะแก่ระหว่างเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม
พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่ใกล้ๆ แห่งน้ำทั่วๆไป
ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200-800 เมตร
ปกติใช้เมล็ดเพาะขยายพันธุ์
ประโยชน์
: เนื้อไม้
เมื่อตัดใหม่ๆ สีเทาอมม่วง เมื่อถูกอากาศนานๆ
เข้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมม่วงถึงน้ำตาลปนสีช็อกโกแลตเข้ม
มีริ้วสีอ่อนและแก่กว่าสีพื้นสลับ เสี้ยนค่อนข้างตรง
เนื้อละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียว หนัก
แข็งแรงทนทานดีมาก เลื่อยผ่าไสกบตบแต่งและชักเงาได้ดี
ใช้บุผนัง ทำครก สาก กระเดื่อง ลูกหีบ
ทำส่วนประกอบของเกวียน กระบะรถยนต์ ทำกระสวยทอผ้า
และไม้ถือ |