ยมหอม
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Toona ciliata  M.Roem.
วงศ์ : MELIACEAE
ชื่อสามัญ: Cigar-box cedar, Indian mahogani, Moulmein cedar.                                     
ชื่ออื่น -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงถึง 35 เมตร เส้นรอบวงยาว 152 ซม. มีพูพอนหรือไม่มี เรือนยอดกลมและแผ่กว้าง บางครั้งค่อนข้างหนาแน่น เปลือกสีขาวปนเทา หรือสีน้ำตาล มักแตกเป็นร่อง ใบ ประกอบแบบขนนกปลายคู่ บางครั้งพบปลายคี่ ยาว 26-69 ซม. แกนกลางใบย่อยมี 9-15 คู่ รูปใบหอก หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง 3.2-5 ซม. ยาว 9-12.8 ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนเบี้ยว ขอบเรียบ ขนเกือบเกลี้ยง มีขนบนเส้นกลางใบด้านบน ก้านใยย่อยยาว 0.2-1 ซม. ขนเกือบเกลี้ยง ดอก สีขาว หรือขาวอมครีม มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อยาวถึง 55 มม. ห้อยลง แกนกลางช่ออดอกมีขน ก้านดอกย่อยยาว 0.5-1 มม. มีขน ดอกยาว 3.5-5 มม. กลีบเลี้ยงยาว 3.5-5.8 มม. มักเกลี้ยง หรือมีขนด้านนอก ขอบมีขนยาว เกสรเพศผู้มี 5 อัน ติดอยู่บนก้านชูเกสรร่วมซึ่งยาว 3-4.9 มม. ก้านเกสรผู้ยาว 1.25-2.5 มม. ในดอกเพศผู้ โดยดอกเพศเมียจะสั้นกว่า เกือบเกลี้ยงหรือมีขน อับเรณูยาว 0.6-1.1 มม. ปลายเป็นติ่งแหลม มักมีรยางค์ยาว อับเรณูที่เป็นหมันยาว 0.5-0.9 มม. เป็นรูปเงี่ยงลูกศร มักมีรยางค์ยาวที่ปลาย จานฐานดอกยาว 1.25-2.5 มม. สีส้มอมแดง มีขนหนาแน่น รังไข่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1.25-1.8 มม. มีขนยาวเล็กน้อย มี 5 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 8 หน่วย ก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปจาน เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 0.75-1.25 มม. ผล แห้ง ยาว 15-20 มม. สีน้ำตาลอมแดงเรื่อ เปลือกเรียบ หรือมีช่องอากาศเล็กๆ กระจายทั่วไป เมล็ด กว้าง 1.2-3 มม. ยาว 5-7 มม. มีปีกทั้งสองด้าน ปีกไม่เท่ากัน ปลายมนแคบ
          พบทั่วไปตามป่าดิบ พื้นที่รกร้าง มักพบตามริมน้ำ ความสูง 1,500 เมตร
ประโยชน์
:  เปลือกต้น เป็นยาฝาดสมาน ยาบำรุง ยาแก้มาเลเรีย ยาแก้ท้องผูก ยาแก้โรคบิด ใช้ภายนอกรักษาแผล

ที่มาของข้อมูล :  ดร.ก่องกานดา ชยามฤต ลีนา ผู้พัฒน์พงศ์ ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ 2545 , สมุนไพรไทย ตอนที่ 7