ขี้มอด
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Dalbergia lanceolaria  L.f. var. lakhonensis (Gagnep.) Niyomtham
วงศ์ : LEGUMINOSAE- PAPILIONOIDEAE
ชื่อสามัญ : -
ชื่ออื่น กระพี้หยวก (นครราชสีมา) กะปิ (สุรินทร์)  ถ่อน (ลำพูน)  อีเม็ง (อุบลราชธานี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-25 เมตร เรือนยอดค่อนข้างกลม เปลือกนอกสีเทาแกมเขียว ค่อนข้างเรียบหรือเป็นหลุมตื้นๆ เปลือกชั้นในสีเหลืองอมชมพู  ขอบสีเขียว หนาประมาณ 1.5 ซม. ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ยาว 10-25 ซม. ใบย่อย 7-9 ใบ เรียงสลับ รูปรีถึงรูปขอบขนานแกมรี กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 2.5-3 ซม.  ปลายมนและหยักเว้า โคนสอบ ใบอ่อนมีขนทั้งสองด้าน แต่มักหลุดล่วงไปเมื่อใบแก่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว 5-10 ซม. ดอกรูปดอกถั่ว ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 5 อัน รังไข่มีขนตามรอยประสาน มีออวุล 2-4 เม็ด ฝักแบน รูปใบหอกถึงรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 8-15 ซม. ปลายแหลม โคนเรียว แคบ เปลือกฝักตรงกระพุ้งเมล็ดหนาและแข็งกว่าบริเวณอื่น มี 1-4 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาล รูปไต แบน กว้างประมาณ 8 มม. ยาวประมาณ 5 มม.
          มีเขตกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 75-500 เมตร ในต่างประเทศพบที่ลาว
ประโยชน์
: ทำฟืน ให้ร่มเงา