คูน , ราชพฤกษ์
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia fistula  L.
วงศ์ : LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE
ชื่อสามัญ : Golden shower, Indian laburnum, Pudding - pine tree
ชื่ออื่น  กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)  ชัยพฤกษ์  ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง) ปือยู  ปูโย  เปอโซ  แมะหล่าหยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ลมแล้ง (เหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยงๆ ชอบขึ้นตามป่าผลัดใบ หรือในที่ดินที่มีการถ่ายเทน้ำได้ดี ใบ เป็นใบช่อสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งๆ ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีใบย่อยรูปป้อมๆ หรือรูปไข่ 3-6 คู่ ใบย่อยกว้างๆ 5-7 ซม. ยาว 9-15 ซม. โคนใบมนและค่อยๆ สอบไปทางปลายใบ เนื้อใบเกลี้ยงค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบถี่ และโค้งไปตามรูปใบ  ดอก ออกเป็นช่อ ยาว 20-45 ซม. กลีบรองกลีบดอกรูปขอบขนานยาวประมาณ 1 ซม. มี 5 กลีบ มักหลุดร่วงง่าย กลีบดอกยาวกว่ากลีบรองกลีบดอกประมาณ 2-3 เท่า และมีกลีบรูปไข่กลับ 5 กลีบ ตามพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน เกสรผู้มีขนาดแตกต่างกันจำนวน 10 อัน ก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ผล เป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยงๆ  อาจยาวถึง 50 ซม. โตวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0-2.5 ซม. ฝัก อ่อนสีเขียวและออกสีดำเมื่อแก่จัด ในฝักจะมีผนังเยื่อบางๆ กั้นเป็นช่องๆ ตามขวางของฝัก และตามช่องเหล่านี้จะมีเมล็ดแบนๆ สีน้ำตาลอยู่
          ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม
ประโยชน์
:  เนื้อไม้ สีแดงแกมเหลือง เสี้ยนสน เนื้อค่อนข้างหยาบ แข็ง ทนทาน เลื่อยผ่าตบแต่งยาก ใช้ทำเสา เสาสะพาน สากตำข้าว ล้อ เกวียน คานเกวียน คันไถ เครื่องกลึง เนื้อไม้และเปลือกใช้ฟอกหนัง ฝัก ใช้เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟอกหรือชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อ และขัดข้อ ดอก แก้ไข้เป็นยาระบาย เปลือก และใบ บดผสมทาฝีและเม็ดผื่นตามร่างกาย ใบ ต้มรับประทานเป็นยาระบาย ราก ฝนทารักษาขี้กลาก และเป็นยาระบาย