ทองกวาว
 

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma  (Lam.) Taub.
วงศ์ : LEGUMINOSAE - PAPILIONOIDEAE
ชื่อสามัญ :  Bastard teak, Bengal kino , Flame of the forest
ชื่ออื่น กาวา ก๋าว (ภาคเหนือ) จอมทอง (ภาคใต้) จ้า (เขมร-สุรินทร์)  จาน (อุบลราชธานี)  ทองกวาว ทองธรรมชาติ ทองพรมชาติ (ภาคกลาง) ทองต้น (ราชบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 8-15 เมตร ลำต้นส่วนมากจะคดงอและแตกกิ่งต่ำ เปลือกสีเทาคล้ำ แตกระแหงเป็นร่องตื้นๆ เมื่อสับเปลือกจะมีน้ำเลี้ยงใสๆ ถ้าทิ้งไว้สักครู่น้ำเลี้ยงนั้นจะเปลี่ยนเป็นยางเหนียวสีแดงเรื่อๆ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ กิ่งมักคดงอ กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแก่คลุม ใบ เป็นช่อ ติดเรียงเวียนสลับ มักรวมกันเป็นกระจุกตามปลายๆ กิ่ง ช่อหนึ่งๆ มีใบย่อยที่ออกจากจุดปลายก้านช่อจุดเดียวกัน 3 ใบ ก้านช่อยาว 7-15 ซม. ส่วนก้านใบย่อยสั้นมาก ยาวไม่เกิน 5 มม. ใบย่อยมีรูปร่างต่างๆ กัน โดยที่ใบย่อยใบกลางทรงรูปป้อมๆ โคนและปลายสอบ บางทีมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกลายๆ ใบย่อยคู่ด้านข้างทรงใบเป็นรูปไต โคนใบเบี้ยว ปลายใบมน กว้าง 8-15 ซม. ยาว 9-15 ซม. เนื้อใบหนา หลังใบเกลี้ยง ส่วนท้องใบสาก  ดอก ต สีแสด บางต้นมีสีเหลือง รูปทรงแบบดอกถั่วขนาดใหญ่ ออกรวมกันเป็นช่อเล็กบ้างใหญ่บ้าง ตามกิ่งเหนือรอยแผลใบและตามปลายกิ่ง  ช่อยาวสุดถึง 15 ซม. ตามส่วนต่างๆ ของช่อมีขนสีน้ำตาลคล้ำๆ ทั่วไป กลีบฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยป้อมๆ ปลายแยกเป็นกลีบ 4-5 กลีบ มีขนสีน้ำตาลคล้ำคลุม กลีบดอกมีรูปร่างต่างๆ กัน 5 กลีบ ยาวประมาณ 7 ซม. เกสรผู้ มี 10 อัน แยกเป็นอิสระ 1 อัน ส่วนอีก 9 อัน โคนก้านอับเรณูจะเชื่อมติดกันเป็นหลอดหรือเป็นรางยาวยื่นพ้นการห่อหุ้มของกลุ่มเกสรผู้ออกมาเล็กน้อย ผล เป็นฝัก ฝักแก่แห้งไม่แตก รูปขอบขนาน ผิวไม่เรียบ มีขนอ่อนนุ่มอยู่ทั่วไป ที่ขั้วฝักมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เมล็ดติดอยู่ที่ปลายฝัก กว้าง 3.5-4.3 ซม. ยาว 10-14 ซม. ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลทอง เมล็ดมีลักษณะแบน กลม รี กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 3-3.5 ซม. เมล็ดอ่อนสีเขียว เมล็ดแก่สีน้ำตาลเข้ม มีฝักละ 1 เมล็ด
          ระยะการออกดอกเป็นผล ออกดอกระหว่างเดือน ธันวาคม-กุมภาพันธ์ เวลาออกดอกจะทิ้งใบหมด ใบใหม่จะเริ่มผลิเมื่อดอกเริ่มโรย
ประโยชน์
:  เนื้อไม้ เมื่อยังใหม่อยู่มีสีขาวนวลๆ ทิ้งไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีนวลปนเทา เนื้อหยาบ อ่อน เมื่อแห้งแล้วเบาและหดตัวมาก ใช้ทำกระดานกรุบ่อน้ำ ทำเรือขุด เปลือก ใยจากเปลือกใช้ทำเชือกหยาบๆ  ดอก ให้สีแดง ใช้ย้อมผ้า ใบ ใบสดใช้ห่อของ ใช้ตากมะม่วงกวน  ทางด้านสมุนไพร น้ำเลี้ยง หรือ ยาง แก้ท้องร่วง ใบ ใช้เข้ายาบำรุงกำลัง ใช้พอกฝีและสิว รักษาโรคท้องขึ้น พยาธิ ริดสีดวง เมล็ด ใช้บำบัดพยาธิภายใน ถ้าบดให้ละเอียดผสมกับน้ำมะนาวใช้ทาแก้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ดอก ใช้ขับปัสสาวะ และลดความกำหนัด