|
มะกล่ำต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์
: Adenanthera
pavonina L.
วงศ์ :
Leguminosae - Mimosoideae
ชื่อสามัญ
: Red sandalwood tree,
Coralwood tree, Sandalwood tree, Bead tree
ชื่ออื่น :
มะกล่ำต้น, มะกล่ำตาช้าง (ทั่วไป); มะแค้ก, หมากแค้ก
(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน); มะแดง, มะหัวแดง, มะโหกแดง
(ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ สูง
8-20 เมตร ลำต้นเปลา ตรง แต่แตกกิ่งต่ำ
เปลือกสีน้ำตาลปนเทา หรือน้ำตาลอ่อน
เรียบหรืออาจแตกปริเป็นร่องเล็กๆ ไปตามยาวลำต้นบ้าง
เปลือกในสีน้ำตาลอ่อน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม
ปลายกิ่งจะห้อยลู่ลง
กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนคล้ายเส้นไหม ใบ
เป็นใบช่อแบบขนนกสองชั้น ช่อติดเรียงสลับ ยาว 15-40
ซม. แต่ละช่อมีช่อย่อยซึ่งออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ 2-6
คู่ แต่ละช่อมีใบย่อย 7-15 คู่ คู่ใบติดเรียงสลับกัน
ปลายสุดของช่อย่อยจะเป็นใบเดี่ยวๆ ทรงใบรูปรีๆ
แกมรูปขอบขนนาน กว้าง 6-15 มม. ยาว 20-35 มม.
ขอบใบเรียบ โคนใบเบี้ยว ส่วนปลายใบมน
ท้องใบเป็นคราบขาวมีขนประปราย ดอก เล็ก
สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอมอ่อนๆ
ออกรวมกันบนช่อที่ไม่แยกแขนง
(หรืออาจบางทีอาจมีช่อแขนงบ้าง) ตามง่ามใบ
รูปช่อคล้ายหางกระรอก ยาวถึง 10 ซม.
กลีบฐานดอกยาวประมาณ 0.8 มม. โคนกลีบเชื่อมติดกัน
เป็นรูประฆัง ปลายขอบแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกยาว 2.5-3.1
มม. เกสรผู้ มี 10 อัน ดูเป็นพู่หรือเป็นกระจุกเล็กๆ
รังไข่รูปรีๆ ภายในในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อนมาก ผล
เป็นฝักแบนๆ สีน้ำตาล กว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาว 12-20
ซม. เมื่อแก่เต็มที่ฝักจะบิดม้วนงอ
และจะแยกจากกันตามรอยประสานเป็นสองซีก เมล็ดสีแดงสด
ติดอยู่ที่ขอบผนังฝัก ฝักหนึ่งๆ มีหลายเมล็ด
ออกดอกระหว่างเดือน มีนาคม-พฤษภาคม
ฝักจะแก่ประมาณเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม
การกระจายพันธุ์ พบทุกภาค
ตามบริเวณชายป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ที่ระดับสูงประมาณ
50-400 เมตร
เป็นไม้โตเร็วและเป็นไม้เบิกนำได้ดีมากชนิดหนึ่ง
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์ :
เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง มีความแข็งแรงทนทานดี
ใช้ทำอุปกรณ์ที่ใช้ในร่มได้ดี
เนื้อไม้ให้สีแดงใช้ย้อมผ้า ทางด้านสมุนไพร เนื้อไม้
ปนผสมกับน้ำทาแก้ปวดศีรษะ ผสมกับน้ำอุ่นดื่มแก้อาเจียน
ใบ ต้มดื่มแก้โรคขัดข้อ ลมเข้าข้อ
เป็นยาสมานและบำรุงธาตุ แก้ท้องร่วงและเป็นบิด เมล็ด
บดเป็นผงใช้พอกดับพิษ ใช้รักษาแผลที่เป็นหนองและฝี
ผสมกับน้ำผึ้งแก้จุกเสียด รักษาโรคหนองใน แก้ปวดศีรษะ
|
|