สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่
             Klong Phai Botanical Garden   
 

Labiatae








สัก

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Tectona grandis L.f.  Miq.
วงศ์ :  Labiatae
ชื่อสามัญ :  Teak

ชื่ออื่น :  เคาะเยียโอ (ละว้า-เชียงใหม่); ปายี้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ปีฮี, ปีฮือ, เป้อยี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); สัก (ทั่วไป); เส่บายี้ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ผลัดใบสูงตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป ลำต้นเปลาตรง โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น เปลือกในสีเขียวอ่อน ใบ เดี่ยว เรียบตรงข้าม ปลายแหลม โคนมน ยาว 25-40 เซนติเมตร กว้าง 20-30 เซนติเมตร ใบต้นอ่อนจะใหญ่กว่านี้มาก ด้านล่างสีเขียวเข้ม ด้านบนสีอ่อนกว่า ผิวใบมีขนสากมือ มีต่อมเล็ก ๆ สีแดง ขยี้ใบจะมีสีแดงเหมือนเลือด ดอก ขนาดเล็ก สีขาวนวล ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผล แห้งค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร เปลือกแข็ง เมล็ด มี 1-3 เมล็ด
           ไม้สัก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตอนใต้ของประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว (ส่วนที่ติดภาคเหนือของไทย)และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยนั้น ไม้สักจะขึ้นอยู่เป็นส่วนใหญ่ ในป่าเบญจพรรณทาง ภาคเหนือ และบางส่วนของภาคกลางและเชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี  ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายน ตุลาคม
ประโยชน์
เนื้อไม้ มีลายสวยงาม แข็งแรง ทนทาน เลื่อยผ่าไสกบตบแต่งและชักเงาได้ง่าย และดีมาก ใช้ในการก่อสร้างเครื่องเรือน ปลวก มอด ไม่ชอบทำลายเพราะมีสารพวกเตคโตคริโนน