ลำบิด
ชื่อวิทยาศาสตร์
:
Diospyros ferrea
(Willd.) Bakh. var. ferrea
วงศ์ :
Ebenaceae
ชื่อสามัญ
: Ebony tree, Dark-barked eurya
ชื่ออื่น :
ไคร้มด (เชียงใหม่); ดำดง (ภาคเหนือ); ทิ้งทวด
(ชลบุรี); ปูละแซ (มลายู-นราธิวาส); ลำบิด (ภาคกลาง);
ลำบิดทะเล (ระนอง); ลำอิด (นราธิวาส); สลักดำ
(อุดรธานี); หมากน้อย (ชัยภูมิ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ต้นขนาดเล็กถึงกลาง สูงตั้งแต่ 2
เมตร ถึง 20 เมตร ต้นแคระๆ มักคดงอและดูเป็นไม้พุ่ม
ส่วนต้นโตเปลาตรง เปลือกสีดำปนเทา เนื้อไม้ขาว
กิ่งแขนงเล็กๆ เกลี้ยง
ยอดอ่อนเรียวแหลมมีขนเป็นเส้นไหมคลุม ใบ
เป็นใบชนิดเดี่ยว ติดเรียงสลับกัน รูปมน รูปไข่กลับ
และรูปขอบขนาน กว้าง 1.5-3.5 ซม. ยาว 3-7 ซม.
ฐานใบมักสอบแคบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบมีทั้งมน ป้อม
หยักเว้าเข้า และสอบแหลม เนื้อใบหนา หลังใบเกลี้ยง
ส่วนท้องใบแรกๆ มีขน
แล้วขนจะค่อยหลุดร่วงไปเมื่อใบแก่ขึ้น เส้นแขนงใบมี
8-12 คู่ แต่ละเส้นมักคดโค้ง
แต่ปลายเส้นจะจรดกันก่อนถึงขอบใบ
เส้นเหล่านี้เห็นได้ชัดทางด้านท้องใบ
และพอสังเกตเห็นได้ทางด้านหลัง
เส้นใบย่อยแบบเส้นร่างแหเห็นได้ชัดเจนทางด้านท้องใบ
ก้านยาว 2-5 มม. แรกๆ มีขนแล้ค่อยๆ เกลี้ยงขึ้น
ช่อดอก ช่อดอกเพศผู้และเมียอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้
ออกรวมกันเป็นช่อเล็กๆ ช่อหนึ่งๆ มีประมาณ 3 ดอก
ก้านดอกมักไม่ปรากฎ กลีบรองกลีบดอกมี 3 แฉก ยาว 2-3 มม.
โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ด้านนอกมีขนประปราย
ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบดอกมี 3 แฉกเช่นกัน ยาว 3-4 มม.
โคนเชื่อมติดกัน ทรงรูปไข่ป้อมๆ ด้านนอกมีขน
ส่วนด้านในเกลี้ยง เกสรผู้มี 6-12 อัน
ติดอยู่บริเวณโคนกลีบดอกด้านในเป็นสองแถว
เกลี้ยงไม่มีขน รังไข่เทียม มีขนกระจายห่างๆ
ดอกเพศเมีย ออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกมักไม่ปรากฎ
กลีบรองดอกมี 3 แฉก โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย
มีขนนุ่มทางด้านนอก และมีขนสากๆ ทางด้านใน กลีบดอกมี 3
แฉก โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ
หรือบางทีก็เป็นรูปคนโท มีขนสากๆ ด้านนอก
ส่วนด้านในเกลี้ยง รังไข่ ป้อม มีขนสั้นๆ คลุมแน่น
ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย
หลอดท่อรังไข่มีขนนุ่ม ปลายแยกเป็น 3 แฉก
เกสรผู้เทียม มี 6-12 อัน เกลี้ยงๆ ผล รูปรีๆ หรือกลม
โตวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 ซม. ยาว 1-1.5 ซม.
แก่จัดจะแห้งเปราะ ผิวเกลี้ยง กลีบจุกผล 3 กลีบ รูปมน
โคนกลีบติดกัน ด้านนอกในตอนแรกๆ จะมีขนนุ่ม
แล้วขนจะค่อยๆ หลุดร่วงไป ด้านในมีขนหยาบๆ
ปลายกลีบชี้แนบไปตามผิวผล ไม่เป็นคลื่น หรือ จีบ
และไม่มีเส้นลายตามผิวกลีบปรากฎ ก้านผลยาวประมาณ 2 มม.
เมล็ด
ถ้าตัดตามขวางจะเห็นว่าระหว่างเปลือกนอกกับเนื้อขาวๆ
นั้นเรียบ
ออกดอกระหว่างเดือน
มกราคม-มีนาคม ผลจะแก่ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
ลำบิด พบขึ้นตามโขดหินชายทะเลและป่าดิบ
ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงระดับ 300 เมตร
และมีแพร่พันธุ์ในอินเดีย พม่า มาเลเซีย อินโดนิเซีย
ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และแอฟริกา
ประโยชน์ :
ผลรับประทานได้
มีพุ่มใบมันและสวยงามนิยมปลูกริมหาดทรายเพื่อให้ร่มเงา
เนื้อไม้ใช้ทำประโยชน์
จัดเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ
ที่มาของข้อมูล
: ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ
ตอน 3 ฝ่ายพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้,
พฤษภาคม 2526
|