ตะเคียนทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์
:
Hopea odorata
Roxb.
วงศ์ :
Dipterocapaceae
ชื่อสามัญ
:
ชื่ออื่น :
กะกี้, โกกี้ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่); แคน
(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); จะเคียน (ภาคเหนือ); จูเค้,
โซเก (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ตะเคียน, ตะเคียนทอง,
ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง); ไพร (ละว้า-เชียงใหม่); จืองา
(มลายู-นราธิวาส)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-40 เมตร
โตวัดรอบถึงหรือกว่า 300 ซม. ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลา ตรง
เปลือกสีน้ำตาลคล้ำหรือบางทีออกสีดำ
และจะมีชันสีเหลืองเกาะอยู่ตามรอยแตกของเปลือกทั่วไป
ต้นเล็กเปลือกจะเรียบ
แต่พอเป็นต้นใหญ่เปลือกจะแตกเป็นสะเก็ด
เรือนยอดแน่นทึบเป็นพุ่มกลมหรือกรวย กิ่งอ่อนเกลี้ยง
ใบ เป็นใบชนิดเดี่ยว ติดเรียงสลับ ทรงใบรูปไข่
แกมรูปหอก เกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างหนา
ปลายใบเรียว ส่วนโคนใบมนป้านและเบี้ยว
ท้องใบจะมีตุ่มหูดหรือตุ่มดอมเมเซียเกลี้ยงๆ
อยู่ตามง่ามแขนงใบ ดอก เล็ก สีขาวหรือเหลืองอ่อนๆ
กลิ่นหอม ออกรวมกันเป็นช่อโตๆ ตามง่ามใบ
ดอกจะติดเรียงกันเป็นแถวบนก้านแขนงช่อ
และทุกส่วนของช่อจะมีขนนุ่มสีเทาๆ ทั่วไป
ทั้งกลีบฐานดอกและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ผล
กลมหรือรูปไข่เกลี้ยงๆ ยาวไม่เกิน 1 ซม.
มีปีกยาวรูปใบพาย 1 คู่ ปลายปีกว้างแล้วจะค่อยๆ
สอบเรียวมาทางโคนปีก และมีเส้นตามยาวของปีก ๆ ละ 7
เส้น นอกจากนี้ยังมีปีกสั้นๆ อีก 3 ปีก
ปีกเหล่านี้จะมีหน้าที่ห่อหุ้มตัวผลและสามารถพาผลปลิวไปได้ไกลออกไปจากต้นแม่
ตะเคียนทองส่วนใหญ่จะออกดอกระหว่างเดือน มกราคม-มีนาคม
และเป็นผลระหว่างเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน
เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของเอเชียเขตร้อน
ประโยชน์ :
เนื้อไม้ จะมีสีน้ำตาลอมเหลือง
มักจะมีเส้นขาวหรือเทาแกมขาวผ่านเสมอ
ซึ่งเป็นท่อน้ำมันหรือยางนั่นเอง เสี้ยนมักสน
เนื้อละเอียดปานกลาง แข็ง เหนียว มีความยืดหยุ่นสูง
ทนทาน ทนปลวกได้ดี เลื่อยไสกบแต่งและชักเงาได้ดีมาก
มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น
ใช้ทำบ้านเรือน สะพาน หมอนรองรางรถไฟ ตัวถังรถ เรือ
หรือทำเครื่องเรือน วงกบประตู หน้าต่าง หีบใส่ของ
พานท้ายและรางปืน หูกทอผ้า กังหันน้ำ เกียน
เสาโป๊ะและกระโดงเรือ
เดิมนิยมทำเรือขุดหรือเรือมาดกันมาก ชัน
ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ทำน้ำมันชักเงา ใช้ยาแนวเรือ
ทางยา แก่นมีรสขมอมหวาน
รักษาคุดทะราด ขับเสมหะ แก้โลหิตและกำเดา |