ประเพณีการบวช

      
        ๑. บวชเณร วัฒนธรรมเกี่ยวกับพิธีพวชเณร มีอยู่อย่างไร ในหนังสือเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" อ้างไว้ชัดเจนดี
       
พิธีบวชเณรเป็นพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาพิธีหนึ่งที่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็กรุ่นหนุ่ม พลายแก้วบวชเณรเมื่ออายุ ๑๕ ปี ทำพิธีที่วัดใหญ่ จังหวัดกาญจนบุรี
           เมื่อมีการบวชเณร เจ้าของงานก็ต้องเตรียมซื้อของสำหรับบวชมี สบง จีวร สไบ รัดประคต ย่าม บาตร  ส่วนแม่ครัวก็เตรียมทำอาหารกัน ผู้จะบวชก็อาบน้ำทาขมิ้นแต่งตัวอย่างสวยงามแล้วก็เอาร่มกางให้คนแบกมายังวัด ส่วนเครื่องบวชและอาหารก็นำมายังวัดด้วย เมื่อถึงวัดสมภารก็โกนหัว โกนคิ้วให้  แล้วพามายังศาลาซึ่งมีพระสงฆ์คอยอยู่แล้ว  ผู้บวชอุ้มไตรเข้าไปไหว้ขอบรรพชา พระสงฆ์ก็ทำพิธีบวชให้โดยให้รับไตรสรณาคม เสร็จแล้วมีการตักบาตรเลี้ยงพระ พระฉันเสร็จก็ให้ศีลให้พร แล้วก็ตรวจน้ำเป็นการเสร็จพิธี
           อนึ่ง  ควรสังเกตว่า การบวชเณรเรียกว่าบรรพชา บวชพระเรียกว่า อุปสมบท  เณรถือศีล ๑๐ พระถือศีล ๒๒๗ การบวชเณรเป็นวัฒนธรรมต่อมาจนกระทั้งปัจจุบันนี้แม้จะลดน้อยลงไปบ้าง ก็ถือยังเป็นวัฒนธรรม ทางภาคเหนือทำพิธีบวชเณรกันเอิกเกริกมากมีการแห่แหนใหญ่โตเรียกว่า " แห่ลูกกแก้ว "
          ๒.  บวชพระ การบวชเมื่อถึงปีบวชเป็นประเพณีชีวิตอย่างหนึ่งของไทย ถึงปีบวชหมายถึงอายุ ๒๑ ปี บริบูรณ์
       
ประเพณีการบวชนั้นมีคุณอยู่หลายประการ
          ๑.  เป็นการรักษาประเพณีวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ
          ๒.  เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา เชื่อกันมาแต่โบราณบิดามารดาที่ได้บวชบุตรของตนนั้นได้บุญสูงสุด ชาวบ้านเชื่อกันว่าบิดามารดาสามารถเกาะชายจีวรของบุตรไปสวรรค์ได้เลยทีเดียว
          ๓.  เป็นการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ ความหมายของการบวชนั้นก็น่าศึกษา มีศัพท์ที่จำเป็นต้องศึกษาอยู่ ๒ คำคือ

  • บรรพชา  หมายถึงการบวชตอนเป็นสามเณร

  • อุปสมบท  หมายถึงการบวชต่อจากการเป็นสามเณร
    โดยปกติถือกันว่าลูกที่ดีต้องบวชก่อนแต่งงาน  ถ้าใครแต่งงานก่อนก็ถูกครหาด้วยการเล่นคำว่า " เบียดก่อนบวช" ทองประศรีแม่พลายแก้วก็เคยกล่าวแก่พลายแก้วว่า " บวชก่อนอย่าเพ่อมีเมียเลย แม่จะได้ชมเชยชายจีวร"
    ใครรังไม่ได้บวชถือกันว่ายังเป็นคนดิบอยู่  ย่อมไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้หลักผู้ใหญ่ บางท่านไม่ยอมให้ลูกสาวแต่งงานกับคนดิบก็มี
    ตามธรรมดาชายไทยมักบวชหนเดียวแล้วก็สึกออกมาทำมาหากิน แต่บางรายก็กลับไปบวชอีกเป็นครั้งที่ ๒ ชาวบ้านก็ยังไม่ติเตียน แต่ถ้าใครบวชถึง ๓ ครั้งได้นามว่า เป็นชายสามโบสถ์ แสดงว่าเป็นการไม่น่านับถือด้วยประการทั้งปวง มีภาวะอย่างเดียวกับผู้หญิงที่แต่งงานสามหน  ฉะนั้นท่านจึงดูหมิ่นคนทั้งสองพวกนี้ว่าเป็น ชายสามโบสถ์-หญิงสามผัว