ที่มาของโครงการ

jumpeesirindhorn-1.jpg (25284 bytes)


         ในการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ (Botany) ซึ่งเป็นวิชาการที่ว่าด้วยเรื่องของพืช มีการจำแนกพรรณพืชออกเป็นหมวดหมู่ (classification) ตามลักษณะสัณฐานวิทยา (Morphology) ของพืชที่มีรูปทรงต่างๆ กัน  อันเป็นผลจากวิวัฒนาการของพืช (Evolution) ตั้งแต่ในอดีต จนมามีรูปร่างตามที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้
          ในประเทศไทย มีการจำแนกพืชมีดอกหรือเรียกว่าพืชชั้นสูง ออกได้มากกว่า 250 วงศ์ (Family) ประมาณ 10,000  ชนิด (species) ในจำนวนพืชมีดอกที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ ถือได้ว่า พรรณไม้วงศ์จำปา (Family Magnoliaceae) มีวิวัฒนาการต่ำที่สุด หรือเรียกได้ว่า ยังมีความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ (primitive) มากที่สุด ลักษณะของพรรณไม้ในวงศ์จำปาที่พบเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังมีความใกล้เคียงกับลักษณะที่เคยเป็นอยู่ในอดีตเมื่อล้านปีมาแล้ว หลักฐานที่ยืนยันได้ ก็คือมีการพบซากของไดโนเสาร์ที่ชานกรุงปักกิ่งในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อไม่นานมานี้ แล้วก็พบซากของดอกแมกโนเลียชนิดหนึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งรูปทรงของดอกแมกโนเลียที่พบนั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับดอกแมกโนเลียที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้
          เนื่องจากมีความเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ มีวิวัฒนาการต่ำที่สุด จึงทำให้พรรณไม้ในวงศ์จำปามีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ต่ำมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน พบว่าพรรณไม้ในวงศ์จำปาของหลายประเทศทั่วโลก มีการสูญพันธุ์ (rare and endangered species) แต่ที่สำคัญคือทุกชนิดที่อยู่ในสภาพธรรมชาติอยู่ในภาวะที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว หากยังปล่อยให้อยู่ในสภาพปัจจุบันนี้ และยังไม่เร่งรีบทำการอนุรักษ์อย่างจริงจังและถูกวิธีแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า พรรณไม้วงศ์จำปาพื้นเมืองของไทยที่มีอยู่ตามถิ่นกำเนิดในป่าแต่ละแห่งในประเทศไทยนั้น มีโอกาสสูญพันธุ์ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
          ตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนไทยได้เข้าใจและเห็ความสำคัญของพันธุกรรมพืช ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันปฏิบัติจนเกิดประโยชน์ขึ้นมา พร้อมทั้งมีระบบข้อมูลพันธุกรรมพืช สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วประเทศ มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การปกปักพันธุกรรมพืช การสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช การปลูกรักษาพันธุกรรมพืช การวางแผนและพัฒนาพันธุ์พืช การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ทางโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ให้การสนับสนุนสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมอบทุนสนับสนุนการวิจัยในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จำปา ที่มี ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น เป็นผู้อำนวยการโครงการฯ ให้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปี พ.ศ.2544 จากการปฏิบัติงานในโครงการนี้ มีการสำรวจแหล่งกำเนิดของทุกชนิด ทุกแหล่งทั่วประเทศไทย มีการสำรวจการกระจายพันธุ์ การนับจำนวนต้นที่มีอยู่ในสภาพธรรมชาติ มีการศึกษาสภาพของความใกล้จะสูญพันธุ์  ปัญหาของการสืบพันธุ์ ปัญหาของโรคแมลง ปัจจัยควบคุมการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ตลอดจนแนวทางในการแก้ปัญหา
          จากการเข้าร่วมสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดย วว. ได้พบพรรณไม้พื้นเมืองในวงศ์จำปาที่เป็นชนิดใหม่ของโลก (new species) และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้อัญเชิญพระนามาภิไธยเป็นชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่นี้ จึงมีการรายงานในวารสารจำแนกพรรณไม้นานาชาติ BLUMEA ในปี พ.ศ.2543 ในชื่อของ Magnolia Sirindhorniae  Noot.& Chalermglin โดยมีชื่อภาษาไทยว่า จำปีสิรินธร และผลจากโครงการนี้ ได้ช่วยให้ วว. โดยคณะนักวิจัยชุดนี้ ได้พบพรรณไม้พื้นเมืองในวงศ์จำปาที่เป็นชนิดใหม่ของโลกอีกชนิดหนึ่งและมีการรายงานในวารสารจำแนกพรรณไม้นานาชาติ  BLUMEA ในปี พ.ศ. 2545 ในชื่อของจำปีศรีเมืองไทย (Magnolia Thailanddica  Noot & Chalermglin) รวมทั้งการค้นพบพรรณไม้พื้นเมืองในวงศ์จำปาที่ยังไม่มีการรายงานในประเทศไทย ( new record) อีก 4 ชนิด คือ
  1. มณฑิรา       Manglietia  insignis  (Wall.) Blume พบที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2541
  2. จำปีเพชร    Magnolia  mediocris  (Dandy ) Figlar  พบที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิายน 2541
  3. จำปีดอย      Magnolia  gustavii   King พบที่จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2542
  4. จำปีหนู       Magnolia compressa  Maxim. พบที่จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2542