จำปีสิรินธร
Magnolia sirindhorniae
Noot. & Chalemglin
ประวัติการค้นพบ |
||
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้ค้นพบ |
ผู้เขียนได้เข้าไปสำรวจพื้นที่บ้านซับจำปา ต.ซับจำปา อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นป่าพรุน้ำจืด มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ พบต้นจำปีหรือจำปา (ในขณะนั้นไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นจำปีหรือจำปา เพราะยังไม่พบดอก แต่ชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น เรียกว่า จำปา) มีต้นที่มีขนาดใหญ่ สูง 15-25 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ประมาณ 4-5 ต้น ส่วนลำต้นที่มีขนาดเล็กกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40-100 เวนติเมตร พบอยู่ประมาณ 20 ต้น ในการสำรวจครั้งแรกนี้พบซากของผลแก่ที่ร่วงอยู่โคนต้น ส่วนใหญ่ผุพังเกือบหมดแล้ว จึงไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนผลย่อยกี่ผล หรือมีจำนวนเมล็ดต่อผลจำนวนเท่าใด แต่จากการสำรวจทางนิวเศวิทยา สามารถระบุได้ว่า ต้นไม้ชนิดนี้มีความแตกต่างจากจำปีหรือจำปาชนิดอื่นๆ เนื่องจากว่าสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ในสภาพของป่าพรุน้ำจืด ซึ่งโดยปกติแล้วจำปีหรือจำปาทุกชนิดทั่วโลกจะขึ้นอยู่บนพื้นที่ดอน หรือบนภูเขา หรือตามพื้นดินมีการระบายน้ำดี ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2542 ได้เข้าไปสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิม เก็บดอกจากบนต้นมาบันทึกภาพ และบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของดอก พบว่าก่อนที่ดอกเริ่มแย้มจะมีสีเขียวอ่อนที่โคนกลีบดอกด้านนอก เมื่อเริ่มแย้มจะมีสีขาวใส มีกลีบดอก 12-15 กลีบ ปลายกลีบมนกลม จากการสำรวจในครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า ต้นไม้ชนิดนี้เป็นจำปี เนื่องจากในข้อกำหนดเดิม ที่ระบุว่า จำปีมีกลีบดอกแรกแย้มเป็นสีขาว จำปามีกลีบดอกแรกแย้มเป็นสีเหลือง เหลืองส้ม ที่เรียกสีจำปา หรือมีสีอื่นนอกจากสีขาว และเมื่อสอบถามจากผู้คนในท้องถิ่นได้ความว่า ที่เรียกกันอยู่ว่า จำปา ก็เรียกตามสีของกลีบดอกที่ร่วงอยู่โคนต้น มีสีเหลืองจำปา จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านซับจำปา ซึ่งหมายถึงพื้นที่น้ำแฉะมีต้นจำปาขึ้นอยู่ แต่ยังไม่มีใครปีนต้นขึ้นไปเก็บดอกสดๆ ลงมาดูเลยว่ามีสีอะไรกันแน่ เมื่อผู้เขียนนำดอกสีขาวออกมาให้ดู และบอกว่า ต้องเรียกว่าจำปี ปรากฎว่าทุกคนก็ยอมรับ แต่ปัญหาก็คือจะเรียกว่า จำปีอะไร เพราะยังไม่ทราบว่าเป็นชนิดไหน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 ได้เดินทางเข้าไปสำรวจซ้ำในพื้นที่เดิม เก็บผลอ่อนและผลแก่จากบนต้นลงมาบันทึกภาพ ตรวจสอบลักษณะของผล มีผลย่อยจำนวน 15-25 ผล และมีเมล็ด 1-6 เมล็ดต่อผลย่อย จากการสำรวจในครั้งนี้ ได้นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัพรรณไม้วงศ์จำปาที่มีอยู่ในประเทศไทยและในประเทศข้างเคียง สามารถระบุได้ว่า เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก (new species) เมื่อมีการส่งตัวอย่างไปตรวจสอบรายละเอียดซ้ำที่หอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอแลนด์ ทางศาสตราจารย์ฮัน พี นูติบูม ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์จำปา ก็ยืนยันว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงร่วมกันเขียนรายงานการค้นพบ โดยได้รับพะราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ชื่อพระนามาธิไธยเป็นชื่อพืชชนิดใหม่ว่า Magnolia sirindhorniae Noot.& Chalermglin โดยมีชื่อภาษาไทยว่า จำปีสิรินธร แล้วนำลงพิมพ์ในวารสารการจำแนกพรรณไม้ BLUMEA เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 จากผลแก่ที่เก็บเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 มีการนำเมล็ดมาเพาะ พบว่าเมล็ดหล่นอยู่โคนต้นมีเปอร์เซนต์การบงอกต่ำมาก และได้ต้นกล้าที่ไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อเปรียบเทียบกับผลแก่ที่เก็บจากต้น กลับให้เมล็ดที่มีเปอร์เซนต์การงอกสูงมาก เกือบร้อยเปอร์เซนต์ และมีต้นกล้าที่แข็งแรงกว่าต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดที่หล่นอยู่โคนต้น
|
คัดจากส่วนหนึ่งของหนังสือ
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และ
จำปีสิรินทร ของ
สถาบันนวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
(วว.)
เพื่อการศึกษาและสืบค้นข้อมูลพรรณไม้ในงาน
"สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน"
ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจกาพระราชดำริฯ