ปลาทูไทย

 อร่อยและดีกับสุขภาพ ทำอาหารรสวิเศษได้หลายอย่างกว่าที่คิด

ปลาในแผ่นดินไทยมีครบอุดมสมบูรณ์แต่โบราณ ในบรรดาฝรั่งต่างชาติที่บันทึกเรื่องราวอาหารการกินของคนไทยไว้ เห็นจะไม่มีใครวิเศษเท่าลาลูแบร์ ในหนังสือเรื่อง พระราชอาณาจักรสยาม ดังตอนหนึ่งกล่าวว่า

"ไม่มีชนใดจะสมถะเสมอด้วยชาวสยาม ชาวบ้านดื่มกันแต่น้ำเปล่า จะอยู่อย่างมีความสุขด้วยอาหารการกินง่ายๆ เพียงข้าวเปล่ากับปลาแห้ง หรือปลาเค็มตัวเล็กๆ อาจมีเครื่องจิ้มบ้าง ปลานั้นชุกชุมมากเหลือเกิน จับชั่วโมงหนึ่งพอกินไปได้หลายวัน มีมากทั้งปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็ม เต่าตัวย่อมๆ กุ้งขนาดต่างๆ หอยนางรมก็มีมาก และผลไม้นานาชนิดมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์
คนไทยรู้จักและกินปลาทูมาช้านานแล้ว แต่หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร อัตนเก่าแก่ที่สุดที่หาได้ในขณะนี้กลับมีอายุเยาว์เพียง 125 ปีเท่านั้นคือ หนังสือ "อักขราภิธานศรับท์" ฉบับหมอบรัดเล" ตีพิมพ์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2416 โดยเขียนว่า
" ปลาทู, เป็นปลาอยู่ทะเลน้ำเค็มมีเกล็ด, ตัวมันกว้างศักสองนิ้ว, ยาวศักสิบนิ้ว" และ "ปลาลัง,ตัวมันเหมือนปลาทู, แต่เล็กกว่าปลาทู, อยู่น้ำเค็มในทะเลมีเกล็ดหนืดๆ"
ปลาทูเป็นปลาทะเลที่หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก ทั้งยังมีคุณค่าสารอาหาร โดยเฉพาะกราดไขมันโอเมก้า 3 สูง 
การเลือกซื้อปลาทูให้ได้ปลาสด สังเกตที่ลูกตานูน ตาดำสีสดใส ส่วนหลังมีสีเขียวเป็นพื้น ส่วนท้องมีสีขาวเงิน หางปลามีสีเหลือง ลำตัวมีเมือกลื่นๆจับทั่วตัว เหงือกสีแดงอมชมพู ไม่มีกลิ่น เนื้อแน่น เมื่อใช้นิ้วกดที่หลางลำตัวแล้วปล่อยนิ้วออก รอยยุบจะกลับคืนสภาพเดิม 
ส่วนการเลือกซื้อปลาทูนึ่ง ให้เลือกดูปลาที่มีกลิ่นหอม เพราะปลาทูที่ต้มสุกใหม่ๆ จะมีกลิ่นหอมน่ากิน ตัวอวบอ้วน เนื้อนุ่มแน่น ไม่เละ ท้องและหนังปลาไม่ถลอก ถ้าขอบตาแดงและเหลืองแสดงว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพไม่ดี
ปลาทูนึ่ง มีกรรมวิธีการทำที่ไม่ใช่การนึ่ง แต่เป็นการต้มหรือลวก โดยบรรจุปลาใส่เข่งไม่ไผ่ จากนั้นนำเข่งเรียงลงในกระชุ (เข่งไม้ไผ่สานตาห่างๆ ทรงสูง ขนาดไม่ใหญ่มากนัก เส้นผ่าศูนย์กลางสักประมาณ 1-2 ฟุต) จนเต็ม แล้วนำกระชุปลาลงไปแช่ในกระทะใบบัวก้นลึก ที่มีน้ำเกลือต้มเดือดปุดๆ แช่ไว้สักประมาณ 3-5 นาที ถ้าปลาตัวเล็ก 3 นาทีก็ยกขึ้นได้ ต้องกะเวลาต้มให้พอดี ถ้าต้มนานเกินไปเนื้อปลาจะแตกไม่น่ากิน ก่อนจะยกกระชุปลาขึ้น จะต้องตักน้ำเกลือราดบนเข่งปลาทูอีกครั้งเพื่อให้ความชุ่มของเนื้อปลาทูยังคงอยู่ ปลาทูไม่ติดกับเข่ง เวลาต้มต้องอย่าใช้ไปแรง เพื่อให้ปลาสุกข้างนอกแล้วระอุไปถึงเนื้อปลา